อปม. ร่วมประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ

21 ธันวาคม 2566 ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรทป่าไม้ ร่วมประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2/2566 โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุม มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดย พล.ต.อ. พัชรวาท กำชับเข้มทุกหน่วยงานรายงานผลแก้ฝุ่นทุก 7 วัน พร้อมผลักดันงบกลางป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 กรณีฉุกเฉินจำเป็น ปี 2567 นอกจากนี้ยังเร่งรัดทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2566 และเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นในช่วงนี้ มีค่าเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ จึงได้กำชับให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดในภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต้องควบคุมต้นตอที่ทำให้เกิดฝุ่นอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะต้องควบคุมไม่ให้มีการเผาในช่วง 2-3 เดือนนี้อย่างเข้มงวด เคร่งครัดจับปรับรถยนต์ควันดำ และเพิ่มความเข้มงวดกวดขันเรื่องวินัยจราจร พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้ถี่ขึ้นเป็นทุก 7 วัน

โดยภายหลังการประชุมฯ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้มอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปกท.ทส. ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนถึงสรุปผลการประชุมที่สำคัญว่า วันนี้ ที่ประชุมได้มีมติ เห็นชอบที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งงบประมาณเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยแบ่งเป็นการขอรับการจัดสรรงบกลางเพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 และการจัดตั้งงบประมาณโดยกำหนดเป็น “แผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกในการบูรณาการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องมี เป้าหมายร่วมกัน คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 และจำนวนจุดความร้อนต้องลดลง นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่จัดตั้งไว้แล้วใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 จังหวัดในปริมณฑล เพราะพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศที่ประสบวิกฤตฝุ่น PM2.5 และได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเชื่อมโยงศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PHEOC) กับศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ให้มีการบูรณาการและสื่อสารข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งการแก้ไขปัญหาฝุ่นและด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน

Leave a Comment

Skip to content