นายกรัฐมนตรี เปิดงานสัมมนาแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 2567

2 ตุลาคม 2566 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจน นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศร่วมการประชุม
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างที่ทุกท่านทราบดี รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ เศรษฐกิจโลกที่ถูกกระทบโดยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ปัญหา supply chain ที่กระทบมาถึงประเทศไทย เอลนีโน่ (El Nino) ที่จะทำให้เกิดภัยแล้งยาว กระทบกับพี่น้องเกษตรกรกว่า 20 ล้านครัวเรือน วิธีทำการเกษตรของเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ
เพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เป็น 40 ล้านไร่ ครอบคลุมไปยังการดูแลบริหารน้ำอย่างครบวงจร เดินหน้าแก้ไขฝุ่น PM2.5 ที่ต้องบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน ก่อนจะเริ่มส่งผลกระทบในต้นปีที่จะถึงนี้ รวมถึง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่เข้าสภาไปแล้ว ซึ่งจะช่วยผลักดันการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และ Balance ระหว่างการสร้างประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบัน และส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้ด้วย

ซึ่งนายกรัฐมนตรี ขอให้ผู้บริหารหน่วยราชการช่วยกันกำกับดูแลการทำงานอย่างขะมักเขม้น สร้างวิธีการทำงานที่เน้นผลลัพธ์ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน และขอให้ยึดโยงกับประชาชนเสมอ การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และแผนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยกำหนดกรอบ 5 ข้อ คือ

  1. ขอให้จัดทำงบและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไป และคำนึงถึงกรอบกฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
  2. ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ วางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อนกันเหมือนที่เคยเป็นในอดีต
  3. วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และมีประสิทธิผล (Productivity) คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ รวมทั้งคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง การทำแผนงานหรือโครงการ ขอให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
  4. โครงการ แผนงาน ต่าง ๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมาย (Target) ที่ก่อให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศ ประชาชน ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน เพื่อให้การใช้งบประมาณอย่างตรงเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
  5. จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน (Source of funding) ทั้งเงินนอกงบประมาณ และเงินงบประมาณ โดยพิจารณาการใช้เงินแหล่งอื่นๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ
    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในเรื่องการดำเนินงานต้อง “รอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้” พร้อมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่าย ใช้งบประมาณด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติภายใต้ระเบียบ กฎหมาย และระเบียบวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

Leave a Comment

Skip to content