นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ภาคใต้

                วันที่ 27 มิถุนายน 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ภาคใต้ ณ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้บริหารในสังกัด ทส. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของกรมป่าไม้ มีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย นายจิระศักดิ์ ชูความดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมและ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผอ.สปฟ. รายงานการเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในส่วนของกรมป่าไม้  

                ทั้งนี้ ท่าน รมว.ทส. ได้มอบนโยบายในการเตรียมความพร้อมและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้

                1. การดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าพรุในพื้นที่ภาคใต้ ขอเน้นย้ำให้หน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจตราดูแลพื้นที่ในส่วนที่รับผิดชอบของตนอย่างดี กำหนดแผนการรับมือและความพร้อมของเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ยานพาหนะต่าง ๆ และให้พร้อมตลอดเวลา ให้เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาพื้นที่ ประสานงานบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกับทางฝ่ายปกครอง  สมาชิกอาสารักษาดินแดน เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทหาร ตำรวจ หน่วยงานชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญคือการรักษาระดับน้ำในป่าพรุเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า ซึ่งต้องร่วมแรงร่วมใจและได้รับความร่วมมือที่สำคัญคือ กรมชลประทานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                2. จัดตั้งกองอำนวยการควบคุมไฟป่าและหมอกควันภาคใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ส่วนหน้า) โดยจะมอบหมาย รอง ปกท.ทส.เป็น ผอ.ศูนย์ฯ และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 -16 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภาคใต้ เป็นหน่วยงานสนับสนุน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าพรุและปัญหาหมอกควันในพื้นที่ และรายงานสถานการณ์ไฟป่าพรุและหมอกควัน และผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไปยังผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับทราบอย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์

                3. การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนรับมือปัญหาหมอกควันอย่างต่อเนื่องและทันสถานการณ์ รวมถึงเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด เพื่อเน้นย้ำในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้กลไกข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

                4. เน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึก โดยเฉพาะปัญหาของการเผาในพื้นที่เกษตรที่มีแนวเขตติดกับพื้นที่พรุ และเกิดการลุกลามของไฟเข้าป่าพรุ รวมถึงต้องมีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับไฟป่า และสนับสนุนเครือข่ายชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุกขั้นตอนที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การเป็นอาสาสมัครในการเฝ้าระวังและดับไฟ เป็นเครือข่ายในการแจ้งเตือนเมื่อพบเห็นเหตุการณ์เผา และการลักลอบเปิดประตูระบายน้ำ เป็นต้น

                5. การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งประชาชน ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในการร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทั้งในด้านองค์ความรู้ การสนับสนุนสรรพกำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป

Leave a Comment

Skip to content