
วันที่ 9 เมษายน 2568 ณ ห้อง 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
นายสุพจน์ ภู่รัตนโอภา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมป่าไม้ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธาน มี ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้เพื่อหารือแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการระดับชาติฯ EUDRให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน สามารถผลิตและส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปได้อย่างสอดคล้องตามกฎระเบียบของ EUDR ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) เพื่อผลักดันและกำหนดทิศทางในการดำเนินการนโยบายด้านสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนสินค้าเกษตรของไทยปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า และสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปได้ทันกำหนดระยะเวลาบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดยสหภาพยุโรปกำหนดให้สินค้าที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรปเพื่อวางจำหน่าย/นำไปผลิตและแปรรูปต่อในสหภาพยุโรป และสินค้าที่ส่งออกจากสหภาพยุโรปใน 7 กลุ่ม ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้ เช่นเฟอร์นิเจอร์ไม้ กระดาษ และยางรถยนต์ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักที่กำหนดใน EUDR 3 ข้อ ดังนี้
1) สินค้าต้องไม่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าDeforestation-free กล่าวคือ สินค้านั้นต้องไม่มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าหรือสร้างความเสื่อมโทรมของป่า หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563
2) สินค้าต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต Legality requirement เช่น สิทธิในการใช้ที่ดิน สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม ศุลกากร
3) ต้องมีการตรวจสอบสถานะและประเมินสินค้า Due diligence กล่าวคือ ผู้ประกอบการ (operator) และผู้ค้า (trader) ตามคำนิยามที่กำหนดในกฎระเบียบ EUDR จะต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ประเมินความเสี่ยง และมาตรการลดความเสี่ยง โดยมีกรอบระยะเวลาการเริ่มนำกฎระเบียบ EUDR มาสู่การปฏิบัติ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจตามคำนิยามของสหภาพยุโรป ดังนี้ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลาง ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2568 ผู้ประกอบการขนาดย่อยและเล็ก ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2569














