กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ตาก

30 มกราคม 2567 ณ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แม่สอด จ.ตาก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายพัฒน์พงษ์ สมิตติพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม ผู้บริหาร ข้าราชการกรมป่าไม้ เฝ้าฯ รับเสด็จ ในการนี้ นางสุพร ศรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราบดำริ (กปร.) กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ ปี 2565-2566 โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ แปะกอบด้วย ระยะที่ 1 งานฟื้นฟู ศึกษา รวบรวม ระยะที่ 2 งานโครงสร้างพื้นฐาน และระยะที่ 3 งานต่อยอด รวม 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ 2) สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่สังกะสี และแหล่งท่องเที่ยว 3) ศูนย์กลางทางวิชาการ และศูนย์ฝึกอบรมและเผยแพร่ 4) การใช้พลังงานสะอาดและการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม 5) การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วม 6) การสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ 7) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กราบบังคมทูลกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และพื้นที่บริเวณโดยรอบโครงการฯ ดังนี้
พื้นที่ภายในโครงการฯการฟื้นฟูพื้นที่ตามแผนแม่บทโครงการฯ และตามกรอบการออกแบบการจัดสร้าง
สวนพฤกษศาสตร์ ของคณะที่ปรึกษาอนุกรรมการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ดังนี้
1) การปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเหมืองแร่สังกะสี ระหว่างปี 2561-2566 รวมทั้งสิ้น 6 วงศ์ ได้แก่ ไม้วงศ์ยาง วงศ์จำปี วงศ์หญ้า วงศ์มะพลับ วงศ์กระดังงา และวงศ์แค ปลูกไม้ป่าที่ให้ดอกสีขาว ดอกสีส้ม ดอกสีแดง ดอกสีม่วง และดอกสีเหลือง ปลูกไม้พื้นถิ่น รวมทั้งปลูกไม้โตเร็วเพื่อฟื้นฟูป่า รวมจำนวน 340 ไร่ 67 ตารางวา
2) รวบรวมพันธุ์ไม้หายากในผืนป่าตะวันตก จำนวน 98 วงศ์ 356 สกุล 650 ชนิด และพันธุ์กล้วยไม้ จำนวน 65 สกุล 291 ชนิด พืชล้มลุก 30 สกุล 76 ชนิดพื้นที่ภายนอกโครงการฯกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินกิจกรรมการฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนี้
1) ปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่บริเวณรอบโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ของกรมป่าไม้เนื้อที่ 5,671 ไร่และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื้อที่ 8,842 ไร่
2) ปลูกป่าภายใต้โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ฯ ตั้งแต่ปี 2561 – 2566 เนื้อที่ 4,900 ไร่ รวม 634 ราย
3) บำรุงและดูแลสวนป่าเศรษฐกิจโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เนื้อที่ 3,106 ไร่
4) ส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวน 7 แห่งรวมเนื้อที่ 1,551 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พิจารณาใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ดูแลประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลบริเวณโดยรอบอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ดังนี้

1) อนุญาตให้จังหวัดตากดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เนื้อที่ 30,415ไร่ 3 งาน 44 ตารางวาอยู่ระหว่างระหว่างดำเนินการเสนอพื้นที่เป้าหมาย ในปี 2567 เนื้อที่ 5,870 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา
2) สำรวจพื้นที่เตรียมการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ รวมพื้นที่ 486,346 ไร่
3) การปลูกจิตสำนึกโดยการสร้างเครือข่ายครูป่าไม้ (ค่ายเยาวชนรักษ์พงไพรฯ) จำนวน
8 เครือข่าย เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จำนวน 61 หมู่บ้าน เครือข่ายป่าชุมชน จำนวน 40 เครือข่าย และเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าจำนวนทั้งสิ้น 34 เครือข่าย 4) สนับสนุนภารกิจการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า พื้นที่บริเวณโดยรอบโครงการฯ และสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเฝ้าระวังการตัดไม้ทำลายป่า

จากนั้นได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการและพันธุ์ไม้สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดง

Leave a Comment

Skip to content