“ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม”


“ศูนย์ปฏิบัติการผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ประสานกำลังศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง พื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หลังมีประชาชนร้องเรียนการลักลอบฝังกลบสารเคมีจนส่งผลกระทบต่อน้ำใต้ดินและส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ขยายผลพบครอบครองพื้นที่เกินโฉนดเข้าไปในเขตป่า23ไร่เศษ

”นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า(ศปก.พป.)ได้สั่งการให้นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า และนายชาญชัย กิจศักดาภาพ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ในตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หลังจากศูนย์ปฏิบัติการผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานขอให้ร่วมตรวจสอบกรณีได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการลักลอบฝังกลบสารเคมี และส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และคาดว่าน่าจะครอบครองพื้นที่เกินโฉนดที่ดินปฏิบัติการครั้งนี้

นำโดยนายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม บูรณาการร่วมกับพันเอกพงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักร (ศปป.4 กอ.รมน.) ตำรวจกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นม.1 ปากช่อง และฝ่ายปกครองจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า โรงงานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตเรื่องการเก็บกากของเสียในพื้นที่อาคารมีหลังคาคลุมและไม่มีคันกั้นโดยรอบพื้นที่จัดเก็บ และมีกลิ่นเหม็นสารเคมีรุนแรงบริเวณอาคารเก็บสารเคมีที่เป็นของเหลว ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตที่ต้องมีมาตรการป้องกันกลิ่นเหม็น ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนร้อนต่อผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบก๊าซที่แทรกอยู่ระหว่างเม็ดดิน (soil gas) บริเวณพื้นที่ที่มีการนำหินคลุกมากลบหน้าถ้ำ พบมีค่าปริมาณเปอร์เซ็นต์ของแก๊สหรือไอระเหยขั้นต่ำที่ผสมกับอากาศ จนเกิดเป็นส่วนผสมที่เหมาะสมที่จะทําให้เกิดการระเบิดได้ (LEL) 0-34 ค่าสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) ส่วนใหญ่มักใช้เป็นสารประกอบและสารตัวทำละลายในงานอุตสาหกรรม 22 – 721 ppm ตรวจค่าไฮโดรเจนซัลไฟด์ 0-9.0 ppm ค่าแอมโมเนีย 1 – 99 ppm และตรวจวัดค่าความเป็น กรด-ด่าง บริเวณน้ำขังบนผิวดินมีค่าความเป็นด่างสูง (pH = 14) ทั้งหมดเกินค่ามาตรฐาน รวมถึงตรวจพบจุดเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินมีแต่จุดเหนือน้ำ ไม่มีจุดท้ายน้ำด้วย ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้เก็บตัวอย่างน้ำใต้ดิน ดิน และน้ำขังบริเวณถ้ำไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อประกอบการดำเนินคดีตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปนอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบภายในบริเวณพื้นที่ครอบครองทำประโยชน์ และประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด จากการสอบถามผู้จัดการโรงงานซึ่งได้นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบระบุว่า โรงงานอุตสาหกรรมได้ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานเพื่อผลิตปูนขาวและกำจัดขยะอุตสาหกรรม และมีโฉนดที่ดิน 2 ฉบับ เจ้าหน้าที่ได้นำโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงถ่ายทอดลงในแผนที่ปรากฏว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของโรงงาน โดยส่วนที่ออกนอกโฉนดมีการปรับพื้นที่เพื่อใช้ในการกองหินปูน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนขาว และบริเวณข้างเคียงได้ก่อสร้างโรงเก็บขยะอุตสาหกรรม 3 หลัง ซึ่งมีการครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจวัดพิกัดตำแหน่งแปลงที่ดินนำมาถ่ายทอดลงบนแผนที่ป่าไม้ พบว่าเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 เนื้อที่ได้ 23 ไร่เศษ จึงได้ร่วมกันตรวจยึดพื้นที่ทั้ง 23 ไร่เศษ พร้อมนำเรื่องราว เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกลางดง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 ประมวลกฎหมายที่ดิน และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 พร้อมทั้งขอให้พนักงานสอบสวนร้องขอต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งให้โรงงานและบริวาร ออกจากพื้นที่ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่

แสดงความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *