ศปก.พป. ปูพรมเข้าขยายผลเอาผิดโรงงานแปรรูปไม้


“หลายหน่วยงาน ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปูพรมเข้าขยายผลเอาผิดโรงงานแปรรูปไม้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากสายข่าวหน่วยงานความมั่นคงพบข้อมูลว่า มีการนำไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ที่ถูกกลุ่มขบวนการลักลอบตัดในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ขนย้ายเข้ามาในโรงเลื่อยหลายแห่ง เพื่อแปรรูปส่งขายทั่วประเทศ”ปฏิบัติการครั้งนี้ เป้าหมายเป็นโรงงานแปรรูปไม้ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลยุโป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งสายข่าวของหน่วยงานความมั่นคงที่ติดตามขบวนการลักลอบตัดไม้มีค่า โดยเฉพาะไม้ตะเคียน ไม้กันเกรา และไม้หลุมพอในพื้นที่ป่าธรรมชาติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบมีขนย้ายเข้ามาแปรรูปเพื่อส่งขายทั่วประเทศ โดยไม้บางส่วนพบมีการแอบอ้างเอกสารสิทธิ์ เพื่อตัดไม้ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) พลตรีอนุสรณ์ โออุไร เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พันเอกพงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า และนายชาญชัย กิจศักภาพ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 4 (ภาคใต้) เจ้าหน้าที่ศูนย์ป่าไม้ยะลา กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ เจ้าหน้าที่สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 4 (ภาคใต้) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทหารชุดปฏิบัติการ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ ซึ่งพบว่าภายในโรงงานแปรรูปไม้มีไม้ท่อนและไม้แปรรูปขนาดใหญ่จำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงขอตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพบว่า ใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรยังอยู่ระหว่างการขอต่ออายุ และตรวจพบไม้ตะเคียนทอง 4 ท่อน/เหลี่ยม ความยาว 8 – 10 เมตร ซึ่งไม่สามารถนำเอกสารแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ และเจ้าหน้าที่ยังตรวจพบอีกว่า ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดฉบับที่ 18 และ 19 ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ประกอบด้วย ผู้รับอนุญาตไม่อยู่ดูแลกิจการด้วยตนเอง และไม่มีใบแต่งตั้งตัวแทน ไม่มีการแสดงผังเครื่องจักรภายในโรงงาน ไม่มีการจัดทำบัญชีไม้ให้เป็นปัจจุบัน ไม่พบใบคู่มือคนงานหรือผู้รับจ้าง และมีการขยายโรงงานเพิ่มเครื่องจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่รัฐมนตรีกำหนดให้ปฏิบัติตามมาตรา 58 ความผิดตามมาตรา 73 ทวิ ของพระราชบัญญัติป่าไม้เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดไม้ตะเคียนทอง 4 ท่อน/เหลี่ยม ตรวจยึดเครื่องจักร 4 เครื่อง พร้อมจัดทำบันทึก และรวบรวมเอกสารหลักฐาน ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตาเซะ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เตรียมขยายผลเอาผิดโรงงานแปรรูปไม้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายจุด รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมเตรียมประมวลเรื่องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ปปง. ดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป

แสดงความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *