“พยัคฆ์ไพร ร่วมกับ ศปป.4 กอ.รมน. ดีเอสไอ บุกเช็คบิลเหมืองแร่แบไรต์พื้นที่จังหวัดแพร่ หลังพบกระทำผิดเงื่อนไขการขออนุญาต เช่าช่วงต่อเจ้าของเดิม เจ้าหน้าที่จัดหนักแจ้งหลายข้อกล่าวหา”


วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ พร้อมด้วยพันเอกพงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.4 กอ.รมน.) นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (สาขาแพร่) นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 3 (ภาคเหนือ)เจ้าหน้าที่ป่าไม้ สนธิกำลังร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทหาร ม.พัน 12 พล.ม.1 ตำรวจหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจกองกำกับการ 4 บก.ปทส. ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเวียงต้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การอำนวยการของนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่พลเมืองดี ร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของเอกชนบริเวณตำบลต้าผามอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย ประกอบกับได้รับการประสานจากศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 1 กรมสอบสวนสวนคดีพิเศษ ว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับการลักลอบทำเหมืองแร่แบไรท์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ 2 จุดเป้าหมาย ภายในเหมืองแร่ของบริษัทศศิน จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย พบทั้งสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านพัก และเครื่องจักรกลจอดกระจายตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันพบร่องรอยการทำเหมืองแร่ ชนิดแร่แบไรท์ มีการเปิดหน้าดินโดยใช้เครื่องจักรหนัก การระเบิดย่อยหิน เป็นหลุมลึก และยังพบเศษแร่ซึ่งนำไปทิ้งกองไว้ในบริเวณพื้นที่ใช้ประโยชน์ เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานข้อมูลผู้ดูแลเหมือง เพื่อตรวจสอบเอกสารทั้งหมด กระทั้งพบว่า เมื่อเดือนกันยายน 2553 นายกฤษฎา กัมปนาทแสนยากร ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้ายจำนวน 2 แปลง โดยแปลงแรกได้รับอนุญาตจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2563 จำนวน 254 ไร่เศษ เพื่อทำเหมืองแร่แบไรท์ ต่อมาเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ บริษัท เหมืองศศิน จำกัด ได้เข้ามาเช่าช่วงต่อ ขณะที่แปลงที่ 2 นายกฤษฎา ได้รับอนุญาตเมื่อสิงหาคม 2560 จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2570 เพื่อจัดตั้งสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เนื้อที่ 134 ไร่เศษ แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องว่า นายกฤษฎา ได้ยินยอมให้ บริษัท เหมืองศศิน จำกัด รับช่วงการทำเหมือง กระทั่งล่าสุด 9 พฤษภาคม 2562 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ได้แจ้งให้หยุดดำเนินกิจการเหมืองแร่ทั้ง 2 จุด เนื่องจากพบการกระทำผิดเงื่อนไขการอนุญาต แต่จากการตรวจสอบของหน่วย EOD ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบรายงานว่า มีการเบิกวัตถุระเบิด จำนวน 12 ลูก หลังจากมีคำสั่งให้บริษัท เหมืองศศิน จำกัด หยุดดำเนินกิจการ

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่พบการปิดกั้นลำน้ำสาธารณะ และปล่อยปะละเลยให้น้ำเสียจากการทำเหมือง ลงนำน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้อุปโภค และทำการเกษตร จนทำให้ไม่สามารถใช้ได้

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้ง 7 ข้อกล่าวหา กับบริษัท เหมืองศศิน จำกัด พร้อมตรวจยึดเครื่องจักร อาคารสิ่งปลูกสร้าง และของกลางทั้งหมด ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเวียงต้า ดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

แสดงความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *