ต้นไม้ทรงปลูก-ราชพฤกษ์ : โรงเรียนร่มเกล้า จ.มุกดาหาร


โรงเรียนร่มเกล้า

บ้านหนองแคน ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

1.ชื่อต้นไม้ทรงปลูก  ต้นราชพฤกษ์

2.ชื่อวิทยาศาสตร์    Cassia fistula  L.

3.ทรงปลูกเมื่อวันที่  30  ตุลาคม  2516

4.สถานที่ปลูก บริเวณโรงเรียนร่มเกล้า บ้านหนองแคน ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

พิกัดในระบบ UTM (WGS 84)  E 0447855  N 1852593

5.ความเป็นมา  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเรียน และได้พระราชทานนามว่า “โรงเรียนร่มเกล้า” ซึ่งเป็นโรงเรียนพระราชทานแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร และนักเรียนโรงเรียนร่มเกล้า พระราชทานสิ่งของและทุนการศึกษาให้นักเรียนที่เรียนดี

6.การเจริญเติบโตจนถึงปัจจุบัน    ความโตที่ระดับเพียงอก 167  เซนติเมตร  ความสูง  6  เมตร

30 ตุลาคม 2516
ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี 2516 ซึ่งสมัยนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์พยายามเข้าไปมีอิทธิพล ด้วยพระบารมี และพระเมตตาที่เปี่ยมล้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงโปรดให้สร้างโรงเรียนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ต่อไปในอนาคต

นายโสภณ แก่นงาม ผู้อำนวยการโรงเรียนร่มเกล้า เล่าว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงิน จำนวน 92,063 บาท ในการก่อสร้างอาคารเรียนถาวร ขนาด 5 ห้องเรียน และ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2516 ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ มาทรงเปิดอาคารเรียน และได้พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนร่มเกล้า’ ซึ่งเป็นโรงเรียนพระราชทานแห่งแรกของประเทศไทย

ขณะที่นายแสวง เชื้อคำจันทร์ อายุ 61 ปี ชาวบ้านหนองแคน ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง ซึ่งได้เฝ้ารับเสด็จพระองค์ท่าน บอกว่าชาวหนองแคนต่างรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จากน้ำพระทัยของพระองค์ท่าน และต่อมาพระองค์ก็ได้สร้างอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และไม่มีวันลืมเลือน

ชาวตำบลหนองแคน กล่าวว่าจะทำความดีและดูแลลูกหลานให้ตั้งใจเรียนเติบโตเป็นคนดี และดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงให้ชีวิตที่ดีกับปวงชนชาวไทยไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหน พระองค์ก็เสด็จไปเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรของพระองค์ ในทุกพื้นที่มาอย่างยาวนานตลอดการครองราชย์

ราชพฤกษ์

(Cassia fistula L.)

วงศ์ FABACEAE

ชื่อสามัญ Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pipe tree

ชื่ออื่น คูน, กุเพยะ, ชัยพฤกษ์, ปีอยู, ปูโย, เปอโซ, แมะหล่าหยู่, ราชพริก, ลมแล้ง, ลักเคยลักเกลือ

ลักษณะ: ไม้ต้น ผลัดใบ ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร ลำต้นค่อนข้างเปลา ตรง เปลือกสีเทาอมน้ำตาล เปลือกเรียบ หรือแตกล่อนเป็นสะเก็ด เนื้อไม้ สีแดงแกมเหลือง เสี้ยนสน เนื้อค่อนข้างหยาบ เรือนยอดเป็นรูปไข่แกมรูปร่ม ค่อนข้างทึบ ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคู่ ใบย่อย 3-8 คู่ ใบรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน เนื้อใบเกลี้ยงค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบถี่ โค้งไปตามรูปใบ ขอบใบเรียบ ใบขนาดประมาณ 4-8 x 7-12 เซนติเมตร ก้านช่อใบยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร แกนช่อใบยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร หูใบค่อนข้างเล็ก หลุดร่วงได้ง่าย ดอก สีเหลืองสด ออกรวมกันเป็นช่อเป็นพวงตามง่ามใบ/ ซอกใบ เป็นช่อห้อยลง ยาว 20-40 เซนติเมตร ช่อดอกค่อนข้างโปร่ง ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบรองดอก 5 กลีบ รูปไข่ เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อัน ยาว 3 อัน แต่ละอันจะโค้งงอนขึ้น ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาว ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกยาว แขวนห้อยลงจากกิ่ง ขนาดประมาณ 1.5-2.5 x 20-60 เซนติเมตร ผิวฝักเกลี้ยงไม่มีขน ฝักอ่อนสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่จัด ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝัก และหักแตก เมล็ดมีเนื้อเหนียวสีดำหุ้ม ในฝักมีผนังเยื่อบาง ๆ กั้นเป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก และตามช่องเหล่านี้จะมีเมล็ดรูปมน แบน ๆ สีน้ำตาลเป็นมันอยู่ช่องละ 1 เมล็ด ขนาดประมาณ 5×8 มิลิเมตร

ออกดอก/ออกผล ออกดอกเต็มต้นในฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ขณะที่ออกดอกจะทิ้งใบจนหมดต้น แต่บนพื้นที่ที่ชุ่มชื้นจะผลิช่อดอกเป็นบางส่วนพร้อมกับพุ่มใบอ่อน ฝักแก่ประมาณเดือนตุลาคม – ธันวาคม

นิเวศวิทยา/ การกระจาย ราชพฤกษ์เป็นพันธุ์ไม้ที่พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่ว ๆ ไป ที่ระดับความสูง 50-500 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบมากทางภาคเหนือ แต่ได้นำไปปลูกทั่วประเทศหลังจากเป็นไม้ประจำชาติ

ประโยชน์ ราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำชาติของไทย เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูงมีมงคลนาม ซึ่งชาวไทยแต่เดิมใช้ในพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พิธีลงเสาหลักเมือง เป็นต้น