“ชุดพยัคฆ์ไพร ร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกอบกำลังในพื้นที่ บุกยึดพื้นที่กว่า 140 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด หลังพลเมืองดีแจ้งแบะแสว่ามีนายทุกเข้ามาบุกรุกทำประโยชน์”


วันที่ 25 พฤษภาคม 2562 เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายประกอบด้วย ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ นำโดยนายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา หัวหน้าชุดพยัคไพร ร่วมกับชุดปฏิบัติการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.4กอ.รมน.) นำโดยพันเอกพงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4กอ.รมน. นำกำลังเจ้าหน้าที่พยัคฆ์ไพร สนธิกำลังศูนย์ป้องกันปราบปรามที่4 ภาคใต้ ทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดภูเก็ต และฝ่ายปกครอง ภายใต้การอำนวยการของนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ พลโทเรืองสิทธิ์ มิตรภานนท์ ผู้อำนวยการ ศปป.4กอ.รมน. สั่งการให้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ประสานกำลังที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าตรวจสอบบริเวณป่าท้ายหมู่บ้านกะตะ ติดต่อกับหาดนุ้ย หลังจากพลเมืองดี ร้องเรียนว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกปาล์มน้ำมันอายุประมาณ 5 ปี พื้นที่บางส่วนปลูกกล้วย มีการปรับพื้นที่บางส่วนเป็นถนน รวมทั้งสร้างบ้านพักขนาดเล็กจำนวน 3 หลัง โดยบริเวณทางเข้าพื้นที่บุกรุกมีการปิดกั้นทางเข้าออก ขณะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ไม่พบบุคคลใดในพื้นที่ และเมื่อเข้าตรวจตรวจสอบบริเวณบ้านพัก ได้พบเอกสารสำเนาบัตรประชาชนของนายวิทวัส คุ้มภัย และนายเสวก คุ้มภัย รวมทั้งสำเนาหนังสือมอบอำนาจของนายสิงหา เพ็งแก้ว มอบอำนาจให้นายวิทวัส แต่ไม่ระบุว่าเพื่อดำเนินการสิ่งใด เจ้าหน้าที่จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นได้ตรวจสอบโดยรอบ พบโรงเรือนจำนวน 1 หลัง ซึ่งมีการเลี้ยงหมูป่าจำนวน 4 ตัว กวางจำนวน 7 ตัว และมีการติดป้ายว่าผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครอง คือนายสมชาย เทพากูล เจ้าหน้าที่ได้รังวัดขอบเขตพื้นที่ และตรวจสอบพิกัดด้วยเครื่องมือวัดค่าพิกัดจากดาวเทียม ปรากฏว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด ซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และบางส่วนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ไม่ได้ให้ผู้ใดครอบครอง และพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่นอกเขต ส.ป.ก. โดยพื้นที่ทั้งหมดยังมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติและเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2

จากการตรวจสอบการใช้พื้นที่ โดยเปรียบเทียบกับภาพถ่ายอากาศปี 2545 ปรากฏว่าพื้นที่ทั้งหมดมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ ตรวจสอบข้อมูลการสำรวจขึ้นทะเบียนราษฎรในเขตป่า ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ปรากฏว่าไม่มีการสำรวจขึ้นทะเบียนบุคคลในบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจยึด พื้นที่ทั้งหมด 142 ไร่ คิดเป็นค่าเสียหายภาครัฐกว่า 21 ล้านบาท และจัดทำบันทึกการตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ตเพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

แสดงความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *