เรียนรู้..พรรณไม้มีคุณค่าจากป่าชุมชน..วันละชนิด **จำปาดะ** พรรณไม้มีคุณค่าจากป่าชุมชนบ้านนาปริก จังหวัดสตูล

พรรณไม้มีคุณค่าจากป่าชุมชนบ้านนาปริก จังหวัดสตูล

จำปาดะ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus integer (Thunb.) Merr.

ชื่อวงศ์ : MORACEAE

ชื่ออื่น : จำปาเดาะ (ภาคใต้) จำปา (สุราษฎร์ธานี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ไม้ยืนต้นสกุลเดียวกับขนุน สูง 7-10 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่ม เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนเทา มียางสีขาวขุ่น โดยผลจะออกตามลำต้นและตามกิ่ง
  • ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนมน ผิวใบสากมือ คล้ายใบขนุน เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด  ใบยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5-12 เซนติเมตร
  •  ดอกตัวผู้คล้ายทรงกระบอกมีขนาดประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ก้านยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวหรือสีเหลือง ส่วนดอกตัวเมียมีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร และเกสรตัวเมียจะมีขนาด 3-6 เซนติเมตร
  • ผลรูปทรงกระบอก หรือรูปทรงกลมยาว ผิวผลมีหนามทั้งผลคล้ายผลขนุน แต่ผลของจำปาดะจะมีขนาดเล็กกว่า ขนาดตั้งแต่ 20-35 เซนติเมตร กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ผลอ่อนสีน้ำตาลปนเหลืองเปลือกจะแข็งมียางมาก ส่วนผลสุกเปลือกจะนิ่มและมียางน้อยลง เนื้อมีกลิ่นหอมแรงและมีรสชาติหวาน

นิเวศวิทยา : ปลูกตามบ้านเรือนและป่าชุมชนในภาคใต้

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดหรือทาบกิ่ง

การนำไปใช้ประโยชน์ : ผลอ่อนนำไปใช้ปรุงเป็นอาหาร เนื้อผลสุก รับประทานสดๆเป็นผลไม้ ช่วยบำรุงร่างกาย มีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตา เป็นยาระบายอ่อนๆ หรือจะนำไปชุบแป้งทอด ทานเป็นของว่าง เมล็ดสามารถนำไปต้มหรือเผาไฟรับประทานได้ หรือ ใช้ทำเป็นอาหารคาว เช่น ใส่แกงไตปลา แกงกะทิไก่ สรรพคุณทางสมุนไพร เนื้อผลสุก มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา เส้นใยของจำปาดะสามารถช่วยขับไขมันและสารพิษออกจากร่างกาย เป็นยาระบายอ่อนๆ เนื้อผลอ่อน มีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องเสีย เมล็ดจำปาดะช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดและช่วยบำรุงร่างกายได้

เหตุผลในการคัดเลือกเพื่อการเก็บรักษาพันธุกรรมพืช : จำปาดะเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันมากทางภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสตูลปลูกแล้วได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี จึงกลายเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล ซึ่งจะออกผลให้รับประทานเพียงปีละครั้ง ชุมชนจึงอยากอนุรักษ์ไว้เป็นผลไม้พื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ ประจำถิ่น และชุมชนมีความต้องการอนุรักษ์เพื่อการใช้ประโยชน์

สำรวจข้อมูลโดย ศูนย์ส่งเสริมวนศาสตร์ชุมชนที่ 8 ตรัง