สายด่วน Green Call 1310 กด 3

ประวัติความเป็นมา


พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้ยึดหลักการและกระบวนคิดว่า เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น และมีเจตนาอันเป็นความคิดพื้นฐานสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

(1) เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสอย่างกว้างขวางในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ เพื่อประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีรัฐบาลที่บริหารบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากยิ่งขึ้น

(2) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐไม่เปิดเผยหรืออาจไม่เปิดเผยให้ชัดเจนต่อการปฏิบัติ โดยจำกัดเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้ว จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือต่อประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน

(3) เพื่อคุ้มครองการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ

จากเจตนารมณ์ของกฎหมายข้างต้น จึงนำมาสู่หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่ได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิที่จะรู้ (Right to know) ข้อมูลข่าวสารของราชการของประชาชน ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นก็ได้และหน่วยงานของรัฐผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารนั้นๆ มีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้แก่ประชาชนตามช่องทางต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งการที่จะไม่เปิดเผยนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนดยกเว้นไว้ เช่น ข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือข้อมูลที่เปิดเผยไปแล้วประเทศชาติจะเสียหายหรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่การเปิดเผยอาจทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย

มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ประกอบกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้ออกประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ดังต่อไปนี้

(1) ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีสถานที่สำหรับประชาชนสามารถใช้ในการค้นคว้าและศึกษาข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้สะดวกตามสมควร ตามกำลังบุคลากรและงบประมาณที่มี

(2) ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำดัชนีที่มีรายละเอียดเพียงพอสำหรับประชาชนสามารถค้นคว้าข้อมูลข่าวสารตามข้อ 1 ได้เอง

(3) ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีข้อมูลข่าวสารตามข้อ 1 ไว้ให้ประชาชนสามารถตรวจดูได้สะดวก  กรณีมีความจำเป็นเรื่องสถานที่ จะแยกข้อมูลข่าวสารบางส่วนไปเก็บไว้ต่างหากหรือให้บริการ ณ สถานที่แห่งอื่นก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนผู้ขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารประกอบด้วย

(4) การให้ประชาชนเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสาร หน่วยงานของรัฐจะกำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยก็ได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนผู้ขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารด้วย

(5) การดำเนินการตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ข้างต้น หน่วยงานของรัฐจะจัดข้อมูลข่าวสารไว้   ที่ห้องสมุดของหน่วยงานอื่นหรือของเอกชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐนั้น    ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้แทนก็ได้

กรมป่าไม้ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งจะเห็นได้จากการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2551 ณ โรงแรมโนโวเทล ริมเพ ระยอง จังหวัดระยอง โดยท่านอธิบดีกรมป่าไม้(นายสมชัย เพียรสถาพร) ได้มีความคิดริเริ่มให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยการจัดให้มีสถานที่และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนหรือผู้รับบริการ ในการติดต่อสอบถาม ขอทราบข้อมูล หรือรับเรื่องราวต่างๆ และดำเนินการส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกองแผนงาน

ต่อมาในการประชุมผู้บริหารของกรมป่าไม้ ครั้งที่ 7/2551 เมื่อวันพุธที่ 29 ตุลาคม 2551 โดยท่านอธิบดีกรมป่าไม้(นายสมชัย เพียรสถาพร) เป็นประธานในที่ประชุม ได้สั่งการให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนกรมป่าไม้ โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองแผนงาน และให้หน่วยงานส่วนกลาง   ทุกหน่วยงาน ส่งเจ้าหน้าที่มารับเรื่องที่ศูนย์ฯ หน่วยงานละ 1 คน ตามระเบียบวาระที่ 5.3  ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานแจ้งรายชื่อให้กองแผนงานทราบ และรวบรวมรายชื่อเพื่อออกคำสั่งปฏิบัติงานต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนกรมป่าไม้ ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 5067/2551 ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนกรมป่าไม้ และได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 5068/2551 ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เรื่อง ให้ข้าราชการปฏิบัติงานศูนย์บริการประชาชนกรมป่าไม้  โดยให้ศูนย์ฯ มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

1) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และ/หรือ ประสานหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาติดต่อสอบถาม  ขอทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภารกิจและความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

2) ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน ขอความเป็นธรรม ขอความช่วยเหลือ การแจ้งเบาะแส ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจกรมป่าไม้ และประสานงานส่งต่อเรื่องให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องรับไปดำเนินการตามขั้นตอนของแต่ละหน่วยงาน

3) ตอบกระทู้ / ข้อหารือ ของ สส. / สว.

4) ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับศูนย์บริการประชาชนของหน่วยงาน และปฏิบัติงานอื่นๆที่ได้รับมอบหมาย

รายงานข้อมูลโดย นายธนวรรธน์  พงษ์เกิด ตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ