‘ไม้เศรษฐกิจ’ ทางรอดเกษตรไทยยุค4.0


“รัฐบาลได้กำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ทุกกลุ่มจะต้องจับมือกันเพื่อก้าวไปสู่ Thailand 4.0 พร้อมกัน รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกภาคส่วนในการดำเนินงานและส่งเสริมหรือสนับสนุนไปสู่เป้าหมาย”

ถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ใน
ภาคใต้” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อ 24 พ.ค.2560 ซึ่งนี่ก็เป็น “1 ในหลายๆ ครั้ง”ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มักจะหยิบยกวลีที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มากล่าวเสมอ ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ “Thailand 4.0”ที่รัฐบาลโดย คสช. มุ่งมั่นจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ด้วยการเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจแบบนวัตกรรม

ทว่าเมื่อหันไปมอง “3 เสาหลัก” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยพบว่า ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมกับภาคบริการมีความตื่นตัวมีการปลุกกระแสเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่“ภาคเกษตร” ที่ตามรายงาน การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2559 ที่จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า แรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตรราว 11 ล้านคน นี่คือ “ความท้าทาย”เพราะข้อมูลจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เปิดเผยในเวลาไล่เลี่ยกัน คือปี 2558 ให้นิยามเกษตรกรไทยว่า“อายุมากและความรู้น้อย” โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี และร้อยละ 80 จบเพียงชั้นประถมศึกษา

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงาน “วันไม้เศรษฐกิจ” ไทย 2561 ณ อาคารคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ว่า วันนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจภาคครัวเรือนยังมีปัญหาเพราะหนี้สินสูง อีกทั้งสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แน่นอนว่าต้องกระทบกับภาคการผลิต ดังนั้น “ไม้เศรษฐกิจ” จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย เพราะเชื่อมโยงกับหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้เพื่อการลำเลียงสิ่งของไม้เพื่อการก่อสร้าง ไม้พลังงาน เป็นต้น

ซึ่งวันนี้กลไกดูแลเรื่องมาตรฐานคุณภาพได้เกิดขึ้นแล้ว อาทิ สถาบันการรับรองไม้เศรษฐกิจแห่งชาติ (“TFCC” Thailand Forest Certification Council) โดยอยู่ภายใต้การดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) รวมถึงมี สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้ามาออกเกณฑ์มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ “มอก.2861” ก็จะเป็นเครื่องมือรับรองระบบการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

“มูลค่าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไม้นั้น ในระดับโลกอยู่ที่ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถามว่าประเทศไทยเราจะมีส่วนสักเท่าไหร่? ในปี 2030 (พ.ศ.2573) หรืออีก 12 ปีข้างหน้า มูลค่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐถ้าคิดตามค่าเงินวันนี้ก็ 3,200 ล้านล้านบาท ในภาคป่าไม้จะอยู่ที่เฉลี่ย 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศไทยยังต่ำมาก อยู่ที่ 0.01 เปอร์เซ็นต์” คณบดีคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุ

ขณะที่ จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้เปิดเผยว่า วันนี้กรมป่าไม้จัดทำ “ยุทธศาสตร์และแผนงานการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร พ.ศ.2561-2579”เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบและนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น โดยแบ่งเป็น “7 ด้าน” ได้แก่ 1.การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ 2.การจัดเตรียมพื้นที่ รองรับการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ

3.การพัฒนามาตรการทางการคลัง การเงินและระบบตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจ 4.การส่งเสริมและพัฒนา เกษตรกรและผู้ประกอบการไม้เศรษฐกิจ 5.การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมไม้เศรษฐกิจ 6.การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารงาน เพื่อส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ และ 7.การพัฒนาระบบการรับรองป่าไม้ โดยหากรวมทั้ง 7 ด้าน จะมีทั้งหมด 22 แผนงาน 69 โครงการ

รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า “ป่าเสื่อมโทรม”ที่มีกว่า 10 ล้านไร่ทั่วประเทศ ปัจจุบันเป็นที่ทำกินของประชาชนจำนวนมาก และคนกลุ่มนี้ “ฐานะยากจน” หากเป็นภาคเหนือจะปลูก “ข้าวโพด” ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จะปลูก“มันสำปะหลัง” หรือทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว พื้นที่เหล่านี้เป็น “เป้าหมาย” ที่จะมีการเข้าไปส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาปลูกไม้เศรษฐกิจ แต่ก็ต้องรอ “ปลดล็อกทางกฎหมาย”ให้เรียบร้อยก่อน หากทำได้จะแก้ปัญหาหลายอย่างได้ เช่น หมอกควัน ไฟป่า การทำลายหน้าดิน รวมถึงยกระดับรายได้ประชาชน

“ไม้เศรษฐกิจจะเป็นตัวเจาะทะลุทะลวงเข้าไปในเรื่องการส่งเสริมการปลูก ควบคู่ไปกับเรื่องของวนเกษตร เดี๋ยวจะมีพื้นที่ทดลองที่จังหวัดน่าน พื้นที่ไม่ต่ำกว่าหมื่นไร่ในปีแรก ได้นำเรียนปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีกระทรวงไปแล้ว ท่านก็เห็นด้วย ก็จะลองทำดูในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

เช่นเดียวกับ “ที่ดินส่วนบุคคล” วันนี้ยังมีปัญหา“ไม้หวงห้ามไม่สามารถตัดได้ แม้อยู่ในที่ดินของตนเองมีโฉนดถูกต้องก็ตาม” อาทิ ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้ยางนา ฯลฯที่อยู่ในบัญชีของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 (มาตรา 7) รวมถึงคำสั่ง คสช. ที่ 106/2557 ซึ่งถูกมองว่า “ห้ามแบบสุดโต่งเกินไป” และมีเสียงเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายนี้มาตลอดรองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อยู่ในระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หากแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้สำเร็จ ก็ต้องมีระบบตรวจสอบว่าไม้แต่ละต้นนั้นมีที่มาจากแหล่งใด

“อาชีพปลูกไม้เศรษฐกิจจะเป็นอาชีพที่มาช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีที่สุด ถึงแม้เกษตรกรจะได้กำไรจากตรงนี้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่ประเทศไทยจะได้มันมหาศาล ได้ต้นไม้มา สิ่งแวดล้อมดีขึ้น รัฐไม่ต้องลงทุนเสียเงินไปปลูกไม้ ไม่ต้องเสียเงินไปประกันราคาข้าวโพดหรือราคาข้าว เพราะในแผนนั้นพูดถึงทั้งไร่นา ทั้งแปลงข้าวโพดเชิงเดี่ยว พืชเชิงเดี่ยว มันเป็นพื้นที่เป้าหมายทั้งนั้น” จงคล้าย กล่าวย้ำ

อนึ่ง..ในเวทีเสวนาครั้งนี้ ยังได้รับการเปิดเผยจาก มาซามินาคาคุโบะ (Masami Nakakubo) ประธานและ CEOบริษัท JC Service จำกัด ว่า สืบเนื่องจากเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 ซึ่งมีผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เมืองฟุกุชิมะ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนมาใช้ “พลังงานชีวมวล” มากขึ้น นำมาซึ่งแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 7 กิกะวัตต์ (GW) และมีผู้ประกอบการในญี่ปุ่นแสดงความสนใจยื่นของอนุญาตก่อสร้างแล้วรวมๆ กันได้ 17 กิกะวัตต์ เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

แต่ปัญหาสำคัญคือ “ไม้ที่จะนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงในญี่ปุ่นมีไม่เพียงพอ” ที่สำคัญคือ “ยางพารา” เพราะปลูกได้เพียงภาคตะวันตกของประเทศเท่านั้น โดยมีความต้องการไม้ยางพารา 10 ล้านตันต่อปี สำหรับนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า1 กิกะวัตต์ ดังนั้นนี่คือ “โอกาส” ของชาวสวนยางในประเทศไทย ทั้งนี้ไม้ยางพาราที่ใช้ จะมาจากต้นยางที่ไม่สามารถให้น้ำยางได้แล้ว

“หลังจากที่ตัดไม้ยางพาราออกไปแล้ว เราสนับสนุนให้ปลูกต้นอะคาเซีย (Acacia) ในสวนยางพารา พอต้นโตในระยะเวลา 5 ปี ก็สามารถนำไม้ตรงนี้มาสนับสนุนได้อีกทางหนึ่ง” CEO บ. JC Service กล่าว

ด้วยข้อจำกัดทางคุณวุฒิและวัยวุฒิของเกษตรกรไทย การนำภาคเกษตรไทยไปสู่ความเป็น “Smart Farmer” ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนคงไม่ใช่เรื่องง่ายในเวลาเร็วๆ นี้แต่จะให้ไปทำอย่างอื่นนอกภาคเกษตรก็คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นทางออกที่จะช่วย “ประคับประคอง” ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นไม้เศรษฐกิจอาจเป็นคำตอบ เพราะเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้ของเกษตรกร

และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไปพร้อมๆ กัน!!!

คอสตาริกา (Costa Rica) ประเทศในทวีปอเมริกากลาง มีพื้นที่ 50,000 ตารางกิโลเมตรมีประชากรราว 5 ล้านคน ในอดีตรัฐบาลเคยส่งเสริมการเลี้ยงโค ส่งผลให้ประชาชนถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวสำหรับนำไปเป็นอาหารโคกันมาก แต่ต่อมาพบว่านอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว รายได้ชาวคอสตาริกาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างคุ้มค่าแต่อย่างใด รัฐบาลจึงเปลี่ยนมาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้เศรษฐกิจ

โดยเมื่อปลูกจนได้ที่แล้วประชาชนสามารถตัดไปขายได้แบบหมุนเวียนพื้นที่ปลูกไปเป็นวงรอบ ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของชาวคอสตาริกา เพิ่มขึ้นจาก 3,574 เหรียญสหรัฐต่อปี ในปี 2529 เป็น 9,219 เหรียญสหรัฐต่อปี ในปี 2555 และเพิ่มพื้นที่ป่าจากร้อยละ 21 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมดในปี 2529 เป็นร้อยละ 52ของพื้นที่ประเทศทั้งหมดในปี 2555 (แนวหน้าวาไรตี้ :“ฟื้นป่า-สร้างอาชีพคน” แบบอย่างจาก “คอสตาริกา”นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 13 ก.ค. 2560)

 

 

 

credit @ แนวหน้า

แสดงความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *