กรมป่าไม้ และสถานทูตสหรัฐ​อเมริกา​ประจำ​ประเทศไทย​หารือความร่วมมือด้านการป่าไม้

สรุปการหารือระหว่างผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยและผู้แทนกรมป่าไม้ ในโอกาสที่ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริการประจำประเทศไทยขอเข้าพบผู้บริหารกรมป่าไม้ วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้

ผู้แทนสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริการประจำประเทศไทย (Mr. Eric Mullis Agricultural Attache, Mr. Eric Jordan APEC Coordinator, Mr. Evan Fox Economic Officer, Ms. Vararat Khemangkorn Economic Specialist) เข้าพบผู้บริหารกรมป่าไม้ โดยมีนายวันชัย จริยาเศรษฐโชค รองอธิบดี และนายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดี พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนัก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและหารือในประเด็นต่าง ๆ โดยสรุป ดังนี้

1. การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ของประเทศไทย โดยที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค และในปี พ.ศ. 2566 สหรัฐอเมริกา จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคต่อจากประเทศไทย จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริการจะร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการป่าไม้ ผ่านการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง (EGILAT) และการจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านการป่าไม้ ครั้งที่ 5 (MMRF5) ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกายินดีสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ของประเทศไทยอย่างเต็มที่ เพื่อก่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงานและสามารถเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป รวมถึงการพิจารณาสถานที่ศึกษาดูงานที่ควรจะสอดคล้องกับเนื้อหาของการประชุมด้วย

2. ประเด็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริการและประเทศไทยในอุตสาหกรรมไม้ ซึ่งได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการพัฒนาและรื้อฟื้นความร่วมมือที่เคยมีระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย เช่น ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการปลูกป่า การจัดการป่าชุมชน การป้องกันรักษาป่า การสร้างเครือข่าย การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือกันในรายละเอียดต่อไป เพื่อที่จะได้กำหนดกรอบความร่วมมือที่ชัดเจนขึ้น ร่วมถึงช่องทางการให้การสนับสนุนจากโครงการ หรือกิจกรรมอื่นที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

3. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทางสหรัฐอเมริกายินดีที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำไม้ที่ผิดกฎหมาย (Illegal Logging) และสหรัฐอเมริกายังสนับสนุนให้ประเทศไทยในการรับรอง Declaration on Forest and Land Use ซึ่งกรมป่าไม้ ได้แจ้งให้ทางผู้แทนสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริการประจำประเทศไทย ทราบว่าการรับรอง Declaration on Forest and Land Use จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งจากมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ให้เสนอเรื่องการรับรอง Declaration on Forest and Land Use ให้คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นประกอบ ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ในวันที่ 18 มีนาคม 2565 ได้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้เพื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว

กรมป่าไม้ เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ ครั้งที่ 1/2565

ผู้อำนวยการสำนักการป่าไม้ต่างประเทศ ได้มอบหมายให้ นายมนตรี อินต๊ะเสน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ เป็นผู้แทน เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 203 ชั้น 2 กรมประชาสัมพันธ์ ผ่านระบบ VDO Conference เพื่อสนับสนุนข้อมูลการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ณ ห้องประชุม ชั้น 16 โดยมี นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงฯ เป็นคณะอนุกรรมการฯ

โดยภายใต้การประชุม APEC 2022 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3 การประชุม ด้วยกัน ได้แก่ 1) การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2565 2) การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 22 ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2565 และ 3) การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2565

สำหรับการประชุมด้านประชาสัมพันธ์ การเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานในคณะอนุกรรมการฯ อาทิ ตัวอย่างแสตมป์ เจ้าภาพเอเปค 2565 โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Youth Volunteer for APEC” และการประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางของ รฟม. เป็นต้น โดยขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินการตามแผนประชาสัมพันธ์ พร้อมรายงานผลความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เห็นชอบการจัดทำ APEC 2022 PR Guidelines เพื่อให้เกิดเอกภาพและมาตรฐานเดียวกันในการประชาสัมพันธ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ “ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม” (Inform-Inspire-Integrate-Involve) รวมถึงการสร้างพันธมิตรด้านการสื่อสาร การสร้างความรับรู้กับภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ (APEC 2022 Thailand Communication Partnership) และ การลงทะเบียนสื่อมวลชนสำหรับการประชุมเอเปคของแต่ละหน่วยงาน และผู้ประสานงานด้านสื่อมวลชนโดยใช้ระบบเว็บไซต์ APEC Portal และ Microsoft Team 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการระดับชาติฯ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 โดย นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ ข้อเสนอแนะในการประชาสัมพันธ์ 2 เรื่อง คือ 1) เน้นสื่อสารประโยชน์ของเอเปคที่คนไทยได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม และ 2) เน้นการประชาสัมพันธ์ที่ดึงดูดความสนใจประชาชน โดยปูพื้นจากเรื่องการท่องเที่ยว อาหาร และการบริการ ที่เป็นเรื่องที่คนสนใจ ใกล้ตัว และเข้าถึง เข้าใจง่าย รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการเตรียมการด้านสารัตถะ ภายใต้แนวคิดหลักการประชุม “Open Connect Balance เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ตลอดจนรับทราบผลการดำเนินงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่สำคัญหลังการรับมอบตำแหน่งเจ้าภาพ ผ่านสื่อทุกช่องทาง รวมทั้งการผลิตรายการและจัดทำสื่อต่าง ๆ รวมถึงรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย (Communication Consultative Group – CCG) โดยขอให้ประสานความร่วมมือกับแต่ละหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่

(ขอขอบคุณ ภาพและเนื้อหาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

1 4 5 6 7 8 38