ป่าชุมชนต้นแบบ วิถีคน วิถีป่า จังหวัด: กำแพงเพชร

รายละเอียดข้อมูลขอจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนต้นแบบ " วิถีคน วิถีป่า" จังหวัดกำแพงเพชร
ชื่อป่าชุมชนบ้านมอสูง
ที่ตั้งหมู่ที่ 1 ตำบลวังทอง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
อนุมัติ ปี พ.ศ.2549
เนื้อที่1,500-0-00 ไร่
พิกัด47Q 0545594 UTM 1808793
ชื่อ-สกุล ประธานป่าชุมชนนายพยอม อยู่พันธ์
ประวัติสถานที่          บ้านมอสูง หมู่ที่ 1 ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2508 โดยมีราษฎรอพยพมาจากจังหวัดนครสวรรค์, พิจิตร, อุทัยธานี, พิษณุโลก, นครราชสีมา และกาญจนบุรี ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย ป่าไม้ และผืนป่าใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก
          แต่เมื่อเวลาได้ผ่านล่วงเลยไป สภาพป่าได้ถูกทำลายลงกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ยังคงเหลือพื้นที่ป่าที่เป็นสมบัติส่วนรวมของชุมชนที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันในหมู่บ้านเพียงนิดเดียว และยิ่งนานวัน หากราษฎรในชุมชน ไม่ได้ช่วยกันคุ้มครองดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้ก็จะหมดไป รวมถึงพืชพันธุ์ไม้ป่า และความหลากหลายของชีวิตก็จะหมดสิ้นไปด้วย นายพยอม อยู่พันธ์ ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น จึงได้จัดทำเป็นโครงการป่าชุมชนขึ้น
เหตุผลในการเลือกพื้นที่          ป่าชุมชนบ้านมอสูง หมู่ที่ 1 เป็นป่าชุมชนที่มีนายพยอม อยู่พันธ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกำนันตำบลวังทอง เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มตั้งแต่ครั้งสมัยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และได้สนับสนุนให้หมู่อื่นๆ ที่มีพื้นที่ป่าภายในเขตท้องที่ตำบล หันมาร่วมมือให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่คงเหลืออยู่ โดยการจัดทำเป็นโครงการป่าชุมชน รวม จำนวน 12 หมู่บ้าน และเป็นประธานเครือข่ายป่าชุมชนในระดับตำบล
          ส่งผลทำให้สามารถอนุรักษ์พื้นที่ไว้ได้เป็นจำนวนมากประกอบกับภาวะผู้นำและการมีจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ที่มีในตัวของนายพยอม อยู่พันธ์ จึงได้นำราษฎรในชุมชนร่วมกันบำรุงรักษา ปลูกเสริมป่า ป้องกันไฟป่า ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอ จึงมีความเหมาะสมที่จะสนับสนุนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนต้นแบบ “วิถีคน วิถีป่า” ต่อไป
ประเด็นสำคัญ/จุดเด่น/ปัจจัยหลัก
- ประเด็นหลัก1. เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการป่าชุมชน เนื่องจากมีกำนันตำบลวังทอง เป็นประธานคณะกรรมการป่าชุมชน จึงเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการป่าชุมชนระดับตำบลซึ่งมีโครงการป่าชุมชน ในการกำกับดูแล
จำนวน 12 หมู่บ้าน เป็นผู้นำการจัดการป่าตามวิถีคน วิถีป่า โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาผสมผสานกับกิจกรรมทางศาสนา นำหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนามาใช้ปลูกเสริมและสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่าตามแบบวิถีไทย วิถีพุทธ ด้วยการนำราษฎร ถือศีลปฏิบัติธรรมควบคู่กับการดูแลรักษาป่า

2. การปลูกต้นไม้เสริมพื้นที่ป่า มีการปลูกต้นไม้เสริมในพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้หลากหลายชนิด เนื่องจากพื้นที่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการบุกรุกตัดไม้ในอดีต โดยการเชิญชวนราษฎรที่มีป่าชุมชนในตำบล
รวมพลังสามัคคีร่วมกันปลูกเสริม บำรุงรักษา จนสามารถช่วยกันดูแลป่าครอบคลุมทั้งเทือกเขา และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติของชุมชน และชุมชนใกล้เคียง

3. การดูแลป้องกันรักษาป่า มีการทำแนวกันไฟป่า การลาดตระเวนตรวจป่า การทำฝายดักตะกอนและชะลอแรงน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำสำหรับสัตว์ป่า รักษาความชุมชื้นในป่า และลดการชะล้างพังทะลายของดิน
- ประเด็นรอง1. การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน มีการกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมการกำหนดขอบเขตแนวทางการจัดการพื้นที่ป่าทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เป็นป่าสมุนไพร แหล่งอาหารป่า ไม้ใช้สอย และการอนุรักษ์ บำรุงรักษาป่า ไว้ให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ

2. การพัฒนาบุคลากรและขยายเครือข่าย มีการจัดส่งบุคลากรไปเข้ารับการอบรมเรื่อง การบริหารจัดการป่า การฝึกลาดตระเวนตรวจป่าและการฝึกอบรมการป้องกันและดับไฟป่า ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับป่าชุมชนใกล้เคียงในตำบล

3. การประสานและเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐ จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับป่าชุมชน ในพื้นที่อย่างเสมอ เช่น กิจกรรมการปลูกและบำรุงต้นไม้ กิจกรรมรักษ์ต้นไม้ทางศาสนา เป็นต้น

 

ชื่อ-สกุลเจ้าหน้าที่ประสานงาน: นายเสน่ห์ นวลสี
ตำแหน่ง: นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ
สังกัด: สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (ตาก)