กิจกรรมโครงการสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจ
การสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยการอุดหนุนเงินลงทุนสำหรับการปลูกสร้างสวนป่าในปีที่ 1 เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง
โดยภาครัฐสนับสนุนเงินในการเตรียมพื้นที่เตรียมกล้าไม้ ปลูก และดูแลในปีแรก ภายใต้การแนะนำของเจ้าหน้าที่สำหรับการดูแลและติดตามในระยะต่อไป (ปีที่ 2 – 10) เพื่อความยั่งยืนของโครงการและเพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายพื้นที่ป่าเศรษฐกิจจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ กรมป่าไม้จะดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Patnership : PPP) โดยการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่มีความสนใจทั้งในรูปแบบของความรับผิดชอบเชิงสังคม (Coperate Social Responsibility : CSR) หรือ เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) หรือ การประสานหาแหล่งเงินสนับสนุนจากองค์กร/สถาบัน หรือ แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้จะต้องทำหน้าที่
ผู้ประสานงานหลักเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
กิจกรรมโครงการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่ออุตสาหกรรม
ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้ไม้เป็นพลังงานทดแทนในอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีความต้องการใช้ไม้ใน 8 กลุ่มการใช้ไม้หลักของประเทศ ประมาณ 58 ล้านตัน/ปี คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 23 ล้านไร่ และจากการประมาณการคาดว่าในปี 2579 จะมีความต้องการใช้ไม้ในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นถึง 156 ล้านตัน (คณะวนศาสตร์, 2560) แต่ไม้โตเร็วที่เป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมไม้มีปริมาณไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมไม้ จึงต้องดำเนินการส่งเสริม
ให้เกษตรกรปลูกไม้โตเร็วเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม กรมป่าไม้ โดยสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ จึงได้จัดทำ
โครงการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน และเพิ่มผลผลิตไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบรองรับอุตสาหกรรมไม้ประเภทต่าง ๆ
กิจกรรมโครงการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงานทดแทน
ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้ไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไม้พลังงาน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น
อย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์ปริมาณการใช้ไม้ในปี 2559 ของคณะวนศาสตร์ พบว่าอุตสาหกรรมไม้พลังงาน มีความต้องการใช้ไม้ 16 ล้านตัน ไม้พลังงานสำหรับบริโภคในครัวเรือน 15 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ไม้ในภาพรวมของประเทศ ประมาณ 58 ล้านตัน/ปี และจากการประมาณการคาดว่าในปี 2579 จะมีความต้องการใช้ไม้ในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นถึง 156 ล้านตัน (คณะวนศาสตร์, 2560) จะเห็นได้ว่าปริมาณไม้ที่ผลิตได้ ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด และไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไม้ของประเทศ จากปัญหาของภาคการเกษตรที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรบางส่วนมีการเพาะปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ ส่งผลให้การผลิตไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรได้รับผลตอบแทนต่ำ ขณะที่ภาคพลังงานมีความต้องการวัตถุดิบจากภาคการเกษตรสำหรับเป็นเชื้อเพลิงพืชพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้มีการตกลงร่วมกันในการจัดทำบันทึกความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน
เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้แนวทางตลาดนำการผลิต เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ จากการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสม สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจ BCG แนวทางตลาดนำการผลิต และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศต่อไป
กรมป่าไม้ โดยสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงานทดแทน เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน
และเพิ่มผลผลิตไม้ เพื่อเป็นวัตถุดิบรองรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
กิจกรรมโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้กำหนดแนวทาง การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ให้เพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้ได้ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ โดยการปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไม้ที่มีรอบตัดฟันระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้ มีความสำคัญโดยตรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ผลจากนโยบายพัฒนาประเทศประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลเสียหายต่อประเทศเป็นอย่างมากในหลายๆ ด้าน จึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ให้มีศักยภาพสามารถอำนวยประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างสมดุล ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ
ในอดีตไม้เป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศที่ทำรายได้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่ผลจากการที่ป่าไม้ถูกทำลายอย่างรุนแรง จนรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการให้สัมปทานทำไม้จากป่าธรรมชาติ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2532 ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนไม้ใช้สอย ในขณะที่ความต้องการใช้ไม้ภายในประเทศมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี จึงต้องมีการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากต่างประเทศทุกปี คิดเป็นมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ทำให้ประเทศเสียดุลการค้า แต่ปัจจุบันประเทศที่ส่งออกไม้ได้ประสบปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทุกประเทศจึงมีมาตรการป้องกันการทำลายป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่ และปลูกป่าทดแทนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการรณรงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ไม้จากป่าปลูก ทดแทนการใช้ไม้จากธรรมชาติ
ด้านสังคม
แม้ว่าในปัจจุบันนี้สามารถใช้วัสดุอื่นแทนไม้ได้บ้าง แต่สังคมไทยทั้งในเมืองและในชนบท ยังมีค่านิยมที่ชอบใช้ไม้มากกว่า โดยเฉพาะประชาชนยังมีความต้องการไม้ใช้สอยในครัวเรือน เช่น ก่อสร้าง ที่พักอาศัย อุปกรณ์เครื่องใช้ และเป็นพลังงาน ฟืนและถ่าน จึงทำให้ไม้มีราคาสูง นอกจากนี้ เมื่อป่าถูกทำลาย สภาพแวดล้อมเสียไป ผลิตผลทางการเกษตรของประชาชนตกต่ำ ประชาชนบางส่วนจึงอพยพมาขายแรงงานในเมือง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในเมืองใหญ่ และปัญหาอาชญากรรม
ดังนั้นการส่งเสริมให้มีการปลูกป่าเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ใช้สอยของตนเอง นอกจากจะเป็นการสร้างงานแล้ว ประชาชนยังมีไม้ใช้สอย
ด้านสิ่งแวดล้อม
ผลจากการทำลายป่าไม้อย่างรุนแรง ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เกิดภาวะโลกร้อน เกิดภัยพิบัติต่างๆ ได้แก่ ความแห้งแล้ง น้ำท่วม เป็นวัฏจักรที่ประสบทุกปี ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทุกประเทศต้องร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน โดยปลูกป่าเพื่อบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยสามารถกระทำได้ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศที่มีปัญหาความแห้งแล้ง และปัญหาพื้นที่เสื่อมโทรมที่มีอยู่ทั่วไป จากการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เอกชนจะช่วยรักษาสมดุลทางนิเวศและสิ่งแวดล้อม ช่วยฟื้นฟูปรับสภาพภูมิอากาศระดับจุลภาค (Microclimate stabilization)
กิจกรรมโครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ปลูกไม้ยางพาราและพื้นที่เกษตรกรรม
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 19.6 ล้านไร่ และมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 149.22 ล้านไร่ (สำนักเศรษฐกิจการเกษตร, 2559) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งจากราคาสินค้าการเกษตรที่ตกต่ำ ศัตรูพืชและโรคระบาด การส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจร่วมในพื้นที่ปลูกไม้ยางพาราและพื้นที่เกษตรกรรม จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
กรมป่าไม้ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ปลูกไม้ยางพาราและพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ สร้างรายได้จากไม้ที่ปลูกให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้เป็นการเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศในพื้นที่ ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นโยบายและมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง
(1) นโยบายรัฐบาล (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ข้อ 9 การรักษาความมั่งคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
(2) แผนงานพื้นฐานด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 เพิ่มพื้นที่ป่านอกเขตพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมาย กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจ