พันธุ์ไม้


กระถินณรงค์
Acacia auriculiformis A. Cunn. ex. Benth
วงศ์ LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE

ประโยชน์

ใช้เป็นไม้เบิกนำในการปลูกฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม เนื้อไม้แข็งใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ไม้ฟืน ถ่าน วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ

การขยายพันธุ์/การปรับปรุงพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยเมล็ด ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้เติบโตเร็ว รูปทรง เปลาตรงมากขึ้น เหมาะที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเป็นป่าเศรษฐกิจ

 

 

พุทรา
Zizyphus mauritiana Lamk.
วงศ์ RHAMNACEAE

ประโยชน์

เปลือกต้น ใบ รสเปรี้ยวอมฝาด แก้จุกเสียด ท้องเสีย ท้องร่วง ผลดิบ รสฝาด แก้ไข้ ผลสุก รสหวานฝาดเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้ไอ เป็นยาระบาย

การขยายพันธุ์/การปรับปรุงพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยเมล็ด /และไม่อาศัยเมล็ด อาทิ การทาบกิ่ง การเสียบยอด ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนได้ปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ ผลพุทรามีรสชาดดีขึ้น เช่นพุทราสามรส  ต้นไม่สูง เหมาะที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเศรษฐกิจ

 

หมีเหม็น
Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob.

วงศ์ LAURACEAE

ประโยชน์

ผลสุกใช้รับประทานได้  ใบใช้บ่มกล้วยให้สุขเร็ว/ใช้รองปิดปากไหปลาร้ากันหนอน ใช้ใบขยี้กับน้ำซาวข้าวใช้เป็นยาสระผม ป้องกันรังแค ผมนุ่ม ใบสดใช้เป็นยาพอกศีรษะฆ่าเหา  ขยี้ทาแก้พิษแมงมุม แก้กลากเกลื้อนใช้ใบย้อมผ้า(สีเขียว)  ใบกับเมล็ดตำพอกแก้ฝี แก้ปวด ผงจากเปลือกทำธูปไล่แมลง รากเป็นยาบำรุงกำลัง  แก้ปวดกล้ามเนื้อ แก้ลมเป็นก้อนในท้อง ยาแก้ไอออกฝีเครือ เปลือกสดอมแก้ปวดฟัน ปากเหม็น ต้มกินแก้ท้องเสีย แก้บิด แก้ปวดมดลูก ฝนทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหมี่

สารสำคัญที่พบในใบหมี่ ได้แก่ actinodaphnine, boldine, iso-boldine, laurelliptine, N-acetyl- laurelliptine, laruotetanine, N-acetyl-laurotetanine, N-methyl-laurotetanine, liriodenine, Litsea arabinoxylan PPS, litseferine, polysaccharide, reticuline, sebiferine

ใบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา มีฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ แก้อาการท้องเดิน Essential oil ที่สกัดจากใบมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มฤทธิ์การทำให้นอนหลับ มีฤทธิ์ทำให้ความดันต่ำนานขึ้น สารสกัดเมทานอลจากเปลือกใบมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการรักษาโรคท้องร่วงและโรคบิด น้ำมันหอมระเหยจากใบมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus (gram positive bacteria) ส่วนน้ำมันจากผลมีฤทธิ์ยับยั้ง Candida albicans (yeast) จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยฉีดสารสกัดจากพืชส่วนที่อยู่เหนือดินด้วย 50% เอทานอลเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 1 กรัมต่อกิโลกรัม

การขยายพันธุ์/การปรับปรุงพันธุ์  ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

 

มะขามเทศ
Pithecellobium dulce Benth.
วงศ์ MIMOSACEAE

ประโยชน์

น้ำต้มเปลือกต้นใช้ล้างแผลสด ใช้ห้ามเลือด สมานแผล  ดื่มแก้ท้องร่วง ท้องเสีย ใช้ย้อมแห อวน ก็ได้ ผลสุกรับประทานได้

การขยายพันธุ์/การปรับปรุงพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยเมล็ด /และไม่อาศัยเมล็ด อาทิ การทาบกิ่ง การเสียบยอด ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนได้ปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ผลมะขามเทศมีรสชาดดีขึ้น

 

กระสัง/มะสัง
Citrus lucida (Scheff.) Mabb.
วงศ์ RUTACEAE

ประโยชน์

ผลใช้แทนมะนาวได้ รสเปรี้ยว รับประทานได้เป็นผลไม้ ยอดอ่อน ใบอ่อนเป็นผัก ใช้ปิ้งไฟมีกลิ่นหอมกินกับลาบ ก้อย ซุปหน่อไม้ ต้นเหนียวใช้ทำไม้ดัด ไม้ประดับ ใบเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเดิน เป็นยาสมานแผล รากและผลอ่อนเป็นยาแก้ไข้ แก่นมะสังต้มกับแก่นมะขามดื่มช่วงอยู่ไฟ

การขยายพันธุ์/การปรับปรุงพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยเมล็ด /และใช้เป็นต้นพันธุ์ในการการทาบกิ่ง การเสียบยอดมะนาวพันธุ์ดี