ป่าชุมชนต้นแบบ วิถีคน วิถีป่า จังหวัด: กระบี่

รายละเอียดข้อมูลขอจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนต้นแบบ " วิถีคน วิถีป่า" จังหวัดกระบี่
ชื่อป่าชุมชนบ้านทุ่งสูง
ที่ตั้งหมู่ที่ 4 ตำบลเขาใหญ่ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
อนุมัติ ปี พ.ศ.2544
เนื้อที่7,000 – 0 – 94 ไร่
พิกัด0471478 0936403
ชื่อ-สกุล ประธานป่าชุมชนนายมนตรี ขาวสอาด
ประวัติสถานที่ในอดีต พ.ศ. 2510 ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาแก้ว-ควนยิงวัว ได้มีบริษัทเอกชนเข้าไปดำเนินการทำไม้ในพื้นที่สัมปทานบางส่วน (ในบริเวณที่ราบ) ครั้นเมื่อสิ้นสุดสัมปทานทำไม้แล้ว ในปี พ.ศ. 2527 บริษัทเอกชนร่วมกับเจ้าหน้าที่บางคน ได้รายงานไปยังรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า ป่าดังกล่าวมีสภาพเสื่อมโทรมจึงขอใช้พื้นที่ป่า (เช่าพื้นที่ป่า) ใช้ในการปลูกปาล์มน้ำมันจำนวนหลายพันไร่ โดยแนบภาพถ่ายป่าเสื่อมโทรมจากพื้นที่อื่นเป็นหลักฐาน (เท็จ) เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งๆ ที่สภาพป่าผืนดังกล่าวยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ทั้งแปลง
เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเลยทำให้ราษฎรเอาเป็นตัวอย่างเริ่มเข้าบุกรุกจับจองแบ่งพื้นที่กัน และมีปัญหากับบริษัทสัมปทานและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรง ราษฎรที่ตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ ได้รวบรวมเงินทองคนละเล็กละน้อยมอบให้ผู้ใหญ่มนตรี ขาวสะอาด เดินทางไปสำนักนายกรัฐมนตรีสมัย พณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นเพื่อยื่นเรื่องราวคัดค้านการเช่าพื้นที่ของบริษัทเอกชน โดยนำภาพถ่ายความสมบูรณ์ของป่าที่สมบูรณ์จริงเป็นหลักฐาน และสุดท้ายชุมชนบ้านทุ่งสูงได้รับชัยชนะและยับยั้งไม่ให้บริษัทเอกชนเช่าป่าที่สมบูรณ์ปลูกปาล์มน้ำมันในที่สุด
ต่อมาปี พ.ศ 2543 กรมป่าไม้ได้พิจารณาอนุมัติโครงการจัดตั้งป่าชุมชนบ้านทุ่งสูง จำนวน 2,300 ไร่ ปัจจุบัน ปี 2553 นับว่าเป็นป่าชุมชนลำดับที่ 14ของจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ป่าชุมชนเพิ่มเติมทั้งแปลงใน จำนวน 7,000 ไร่ ป่าชุมชนบ้านทุ่งสูงเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศหลายแห่งเข้ามาศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ในด้านการป้องกันรักษาป่าผืนนี้ ทางชุมชนต้องเสียสละและต่อสู้กับอุปสรรคมากมายจนถึงปัจจุบัน สามารถหยุดยั้งการบุกรุก แผ้วถาง ล่าสัตว์ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในป่าผืนนี้ได้อย่างสิ้นเชิง
ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปตรวจเยี่ยมราษฎรบ้านทุ่งสูงพร้อมกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และได้เสด็จเข้าไปในผืนป่าโดย ดร.สุรีย์ ภูมิภมร ได้ถวายรายงานถึงความสามัคคีของประชาชนบ้านทุ่งสูงและช่วยจัดทำแผนแม่บทที่จะช่วยเป็นกรอบในการพัฒนาป่าชุมชนแห่งนี้ ปัจจุบันป่าผืนนี้ได้คืนชีพแล้วแต่สัตว์ป่ายังมีน้อย น้ำก็ยังมีน้อยซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไป พระองค์ทรงปล่อยสัตว์ อันได้แก่ กระจง เต๋าบก (เต๋าฮับ เต๋ายาง เต๋าน้ำ เต๋ากา) และไก่ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้ตรัสว่า “ป่าที่สมบูรณ์จะต้องมีต้นไม้ สมุนไพร สัตว์ป่า และน้ำ สัตว์ที่ปล่อยไปในวันนี้ต้องติดตามดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่างไก่ป่านี้เจ้าชายของญี่ปุ่นได้มาเยี่ยมและทรงโปรดมากวันหลังจะชวนมาด้วย ขนไก่ป่าสวยมาก” ทรงรับสั่งกับผู้นำชุมชนบ้านทุ่งสูงว่า “ขอให้ทุกคนจงรักษาป่านี้ไว้ ฉันเป็นป่าในหลวงเป็นน้ำ พึ่งพากันโดยตลอด ป่านี้ให้พวกเรารักษาเท่าชีวิตอย่างให้มีการบุกรุก อย่าทำลาย ถ้าหากมากระบี่อีกฉันจะมาเยี่ยมทุกครั้ง อยากให้ทุกคนอนุรักษ์ป่า ช่วยกันปกป้องเพราะเมืองไทยไม่มีป่าดี ๆ อีกแล้ว”
ทรงรับสั่งให้ราชเลขาธิการในพระองค์ท่านเอาเงินมา 100,000 บาท และทรงรับสั่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฝากเงินมาหนึ่งแสนบาท เวลาไปที่ไหนให้ทำธนาคารข้าว ทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์”
นายมนตรี ขาวสอาด กราบบังคมทูลว่า “ที่หมู่บ้านทุ่งสูงมีการทำนาน้อย มีแต่สวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนผลไม้ จะขอใช้เงินนี้ครึ่งหนึ่ง เพื่อใช้ในการปกป้องป่าชุมชน โดยการทำถนนล้อมรอบป่า
สมเด็จพระนางเจ้ารับสั่งว่า “ไม่ได้หรอก เงินหนึ่งแสนบาทนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงรับสั่งให้ราชเลขานุการในพระองค์ นำเงินมาให้อีก 100,000 บาท พระราชทานให้กับนายมนตรี ขาวสอาด และรับสั่งว่า “ขอให้ช่วยกันดูแลป่าและสัตว์ป่าที่ปล่อยไว้ในวันนี้ด้วย”
เหตุผลในการเลือกพื้นที่เป็นเพราะป่าชุมชนแห่งนี้มีประวัติอันยาวนานทั้งในเรื่องของการต่อสู้ของชุมชน เพื่อให้ได้มาซึ่งผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ยังได้เสด็จมายังผืนป่าแห่งนี้ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ซึ่งเหมาะสมเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนในอนาคต
ประเด็นสำคัญ/จุดเด่น/ปัจจัยหลัก
- ประเด็นหลัก1. การต่อสู้ของคนในชุมชน
2. การเสด็จเยี่ยมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร
3. ความหลากหลายของพันธุ์ไม้ สมุนไพร ของป่าแห่งนี้
- ประเด็นรอง1. การสื่อความหมายธรรมชาติของป่าแห่งนี้ ให้กับเยาวชนและคนทั่วไป
2. วิถีชุมชนบ้านทุ่งสูง กับป่าชุมชน
3. จิตสำนึกของคนในชุมชน กับป่า

 

ชื่อ-สกุลเจ้าหน้าที่ประสานงาน: มนตรี ยวนเศษ
ตำแหน่ง: พนักงานพิทักษ์ป่า ส 1
สังกัด: สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่