ป่าชุมชนต้นแบบ วิถีคน วิถีป่า จังหวัด: เพชรบูรณ์

รายละเอียดข้อมูลขอจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนต้นแบบ " วิถีคน วิถีป่า" จังหวัดเพชรบูรณ์
ชื่อป่าชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์
ที่ตั้งหมู่ที่ 1 ตำบลริมสีม่วง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
อนุมัติ ปี พ.ศ.2545, 2553
เนื้อที่3,000 ไร่
พิกัดE 723295 N 1827865
ชื่อ-สกุล ประธานป่าชุมชนนายบุญเรือน รุ่งสว่าง
ประวัติสถานที่          บ้านพัฒนวรพงษ์ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปางก่อ-วังชมภู ที่กองทัพบกขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ อดีตสมรภูมิเลือดสนามรบระหว่างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กับทางการทหารบ้านพัฒนวรพงษ์ ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ 1 ตำบลริมสีม่วง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 7-8 ทางหลวงสายบ้านนางั่ว-บ้านสะเดาะพง (ทางหลวงหมายเลข 2258) ได้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้าและกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในภาค 3 เป็นหมู่บ้านกองหนุนอาสาสมัคร หนึ่งในสามสิบหมู่บ้านที่กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งขึ้นบนเส้นทางยุทธศาสตร์ที่ตัดเข้าสู่ใจกลางขุมกำลังของผู้ก่อการภัยคอมมิวนิสต์ในพื้นที่อำเภอเขาค้อ เพราะผลการยุทธปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทำให้ทางราชการตัดต้นไม้เพื่อทำถนน โดยตัดต้นไม้ออกสองข้างทาง 3 กิโลเมตร ตามแผนยุทธศาสตร์เขาย่า กองทัพภาคที่ 3 ให้กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่น้ำเข็กรับสมัครราษฎรทหารกองหนุนและอาสาสมัคร เข้ารับการฝึกเบื้องต้นและการใช้อาวุธเพื่อจัดตั้งหมู่บ้านตามโครงการ โดยจัดสรรที่ทำกินบริเวณสองข้างทางยุทธศาสตร์ข้างละ 1 กิโลเมตร ให้ทำกินครอบครัวละ 20 ไร่ ที่อยู่อาศัยอีก 2 งาน โดยชื่อหมู่บ้านครั้งแรกชื่อ "บ้านจะวะสิต" ต่อมาในปี 2522 กองทัพภาคที่ 3ได้เปลี่ยนเป็นชื่อหมู่บ้าน "บ้านพัฒนวรพงษ์" เพื่อเป็นเกียรติแก่ "รอ.เชวง พัฒนวรพงษ์" นายทหารปืนใหญ่ผู้ควบคุมฐานยิงสนับสนุนผู้พลีชีพในการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ บริเวณหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2522 กองทัพภาคที่ 3 ได้ให้อำเภอเขาค้อเข้าไปปกครองจัดตั้งหมู่บ้านเป็นทางการ ปัจจุบันบ้านพัฒนวรพงษ์ มีประชากร จำนวน 255 คน / 79 ครัวเรือน เป็นผู้ชาย 140 คน เป็นผู้หญิง 115 คน โดยมี นางวิไลพร ศรีวิเศษไทย เป็นกำนันตำบลริมสีม่วง อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาค้อ และชุดปฏิบัติการโครงการพระราชดำริ พล.ม.1 กองทัพภาคที่ 3
เหตุผลในการเลือกพื้นที่          ตั้งแต่เดิมเมื่อตั้งชุมชนเป็นหมู่บ้านกองหนุนอาสาสมัครของกองทัพภาคที่ 3 ในปี พ.ศ. 2520 ไม่ได้มีการกันพื้นที่ไว้ให้เป็นป่าชุมชนแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่เป็นป่าสมบูรณ์เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยนานาชนิดรอบๆ หมู่บ้านจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 ไร่ โดยที่ราษฎรในหมู่บ้านปฏิบัติตามกฎของทหารอย่างเคร่งครัดไม่บุกรุกทำลายป่าแต่อย่างใด หลังจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้มอบตัวต่อทางการ สงครามสงบลงได้มีราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงจากตำบลนางั่ว ตำบลท่าพล และตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ได้เข้าไปบุรุกทำลายป่าเพื่อถือครองที่ดินทำกินจนเหลือพื้นที่ป่าสมบูรณ์รอบๆ หมู่บ้านอยู่เพียงไม่เกิน 3,000 ไร่ กรมป่าไม้พยายามหาทางแก้ไขโดยการจัดตั้งหน่วยป้องกันรักษาป่าขึ้นในพื้นที่ จำนวน 1 แห่ง คือ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.2 (เขาค้อ) เพื่อดูแลพื้นที่ป่าที่เหลือแต่ไม่อาจแก้ปัญหาได้เด็ดขาดทันท่วงที เพราะที่ดินมีราคาแพงขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการตัดทาง ร.พ.ช. จากบ้านพัฒนวรพงษ์ไปยังน้ำตกสามสิบคต ทำให้นายทุกจากภายนอกเข้ามาอยู่เบื้องหลังการทำลายป่า เพื่อเอาที่ดินไปจำหน่ายให้ผู้สนใจทั่วไป โดยผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านพัฒนวรพงษ์ไม่เห็นด้วย แต่ไม่สามารถยับยั้งได้ การบุกรุกป่ามีท่าทีจะลุกลามต่อไป หน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนศาสตร์ชุมชนที่ 2 สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.2 (เขาค้อ) และสำนักงานป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อำเภอเขาค้อได้มาร่วมปรึกษากับคณะกรรมการหมู่บ้านและราษฎรบ้านพัฒนวรพงษ์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2541 เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่าบริเวณรอบๆ หมู่บ้านดังกล่าว ได้มีความเห็นต้องกันที่จะจัดตั้งป่าชุมชนขึ้นในบริเวณพื้นที่มีปัญหา ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2541 คณะกรรมการหมู่บ้านและราษฎรบ้านพัฒนวรพงษ์ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จากสำนักงานป่าไม้อำเภอเขาค้อ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.2 (เขาค้อ) และศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนศาสตร์ชุมชนที่ 2 ได้ร่วมกันกำหนดแนวเขตป่าชุมชนขึ้นเป็นครั้งแรก มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่เศษ เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ระหว่างทางหลวงสายที่ 2258 กับทาง ร.พ.ช. สภาพป่าสมบูรณ์มีทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสองรุ่น มีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 80 ชนิด ไม้ไผ่ประมาณ 6 ชนิด ผักป่าและสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 100 ชนิด ได้ร่วมกันปิดป้ายชื่อชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์ตลอดแนว
เมื่อปี พ.ศ. 2541 เกิดอุทกภัยน้ำป่าพัดพาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้าน (พายุหมู่คง) ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและบ้านเรือนราษฎร คณะกรรมการหมู่บ้านได้มีการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2541 ได้เลือกราษฎรในหมู่บ้านจำนวน 25 คน ขึ้นเป็นคณะกรรมการป่าชุมชน นายคำหล้า ยะสวน เป็นประธานกรรมการคนแรก ปัจจุบัน นายบุญเรือง รุ่งสว่าง เป็นประธานป่าชุมชนคนปัจจุบัน โดยมีนางวิไลพร ศรีวิเศษไทย กำนันตำบลริมสีม่วง เป็นที่ปรึกษา ได้มีความเห็นร่วมกันวางระเบียบหมู่บ้านเพื่อควบคุมดูแลและจัดการป่าชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์แล้วแจ้งให้สภาตำบลริมสีม่วง ชุดปฏิบัติโครงการพระราชดำริ พล.ม. 1 และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป เป็นการประกาศป่าชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์ให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนเป็นการเผยแพร่ศักยภาพของชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์ ในการดูแลรักษาป่าเป็นครั้งแรก
ป่าชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์ในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือไม่ให้ถูกบุรุกทำลายจากบุคคลภายนอกหมู่บ้าน และเพื่อรักษาแหล่งไม้ใช้สอย แหล่งอาหารและสมุนไพรของบ้านพัฒนวรพงษ์ให้มีใช้ตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน รวมทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับบ้านพัฒนวรพงษ์และหมู่บ้านใกล้เคียงอีกหลายหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์ได้ร่วมกันวางระเบียบว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนาป่าชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์ขึ้น และได้ประกาศเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2541 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของราษฎรในหมู่บ้านทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ป่า คุ้มครองป่าจากการบุกรุกทำลายป่า จุดไฟเผาป่า เก็บหาของป่า ตัดโค่นไม้ยืนต้นทุกชนิด ทำลายแผ่นป้ายทุกชนิด ซึ่งมีบทลงโทษปรับเป็นเงินและดำเนินคดีตามกฎหมายและนอกจากนี้ราษฎรบ้านพัฒนวรพงษ์ทุกคนมีสิทธิในการเสนอแนะความคิดเห็นในการพัฒฯและจัดการป่าชุมชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กฏเกณฑ์ดังกล่าวนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของราษฎรทั้งหมดในหมู่บ้านและมอบให้คณะกรรมการป่าชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ จนถึงบัดนี้ไม่มีผู้ละเมิดกฎเกณฑ์จนถึงขั้นดำเนินคดีตามกฎหมายเลย ราษฎรและคณะกรรมการป่าชุมชนได้ดูแลรักษาป่าจนเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีการทำลายป่าและเกิดไฟป่าขึ้นในป่าชุมชนแห่งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ป่าชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์ได้รับการคุ้มครองและดูแลรักษาไว้โดยชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์เป็นอย่างดี เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาขององค์กรท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ทำให้ศักยภาพของต้นไม้ในการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติสูงขึ้น ป่ามีการฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ ในต้นปี 2543 ภายหลังที่มีการเลือกคณะกรรมการป่าชุมชนใหม่ได้มีการปรึกษาหารือระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชนและราษฎรในหมู่บ้านตกลงขยายเขตป่าชุมชนออกไปครอบคลุมพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของฐานปืนใหญ่ในสมรภูมิรบครั้งแรกๆ กับบริเวณน้ำตกสามสิบคต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของหมู่บ้าน จึงรวมเนื้อที่ทั้งหมดของป่าชุมชนบ้านพัฒนวรพงษ์ในปัจจุบันประมาณ 3,000 ไร่
ประเด็นสำคัญ/จุดเด่น/ปัจจัยหลัก
- ประเด็นหลัก1. ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และเพิ่มพื้นที่มากขึ้นจาก 800 ไร่ เป็น 3,000 ไร่
2. เป็นแหล่งเก็บหาอาหารของชุมชน
3. เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
- ประเด็นรอง1. เพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน โดยการหาเห็ด หน่อไม้ มาขาย
2. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น
3. ชาวบ้านรวมเป็นหนึ่งเดียวในการดูแลรักษาป่า (เกิดความสามัคคี) และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

 

ชื่อ-สกุลเจ้าหน้าที่ประสานงาน: นางสาวกฤษณา ลาภปรากฎ
ตำแหน่ง: นักวิชาการเผยแพร่
สังกัด: สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก