เครือข่าย รสทป.

โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า

รสทป.


"...พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า

ป่าที่ถวายความจงรักภัคดีต่อน้ำ

พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า..."

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราช ชนนีพันปีหลวง
พระราชทานแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯ ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕

เข้ารุกรานผลาญป่าเข้าล่าสัตว์ 
ลักลอบตัดต้นไม้จุดไฟเผา
อ้างทำกินถิ่นถือเพื่อยื้อเอา
ผืนป่าเขายึดติดเป็นสิทธิตัว

อุบัติการงานชั่วเขาหัวโล้น
แลดูโพลนระหว่างทางสลัว
ละลานตาฝ่าหมอกสีออกมัว
ตอไม้ทั่วโค่นปรับเข้าจับจอง

ดูดาษดื่นผืนแผ่นแดนภูเขา
ไร้ร่มเงาไม้ใหญ่ใช้เกื้อหนุน
เป็นที่บังพลังแรงแห่งพิรุณ
ปรับสมดุลย์อุ้มกักเพื่อรักษ์ดิน

ประวัติความเป็นมา

         กรมป่าไม้ได้น้อมนำพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยในปัญหาทรัพยากรป่าไม้โดยการฝึกอบรมตามโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า(รสทป.)เพื่อปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้แก่ราษฎรตามแนวพระราชดำริที่ให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายป่ามาเป็นผู้ดูแลรักษาให้ "คน" กับ "ป่า" อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขโดยพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืนอันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการหยุดยั้งการทำลายป่าเป็นผลให้พื้นที่ป่าไม้และความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้เพิ่มขึ้นตามมาในพื้นที่ต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้


             1. เพื่อถ่ายทอดพระราชปณิธานและความห่วงใยในพสกนิกรปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ แก่ราษฎรในพื้นที่ให้มีความเข้าใจซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ร่วมกันดูแลรักษาป่าเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ

            2. เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันของราษฎรในพื้นที่ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับชุมชนใหญ่ ให้เกิดความรักความหวงแหน และความเป็นเจ้าของป่าด้วยกัน

               3. เพื่อสร้างจิตสำนึกและอุดมการณ์ร่วมกันในการป้องกันรักษาป่าระหว่างเจ้าหน้าที่กับราษฎรในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม

            4. เพื่อให้ราษฎรผู้ผ่านการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจต่อทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และวิธีการอนุรักษ์ ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายผลสู่ญาติพี่น้องในครอบครัวต่อไป

              5. เพื่อจัดตั้งองค์กรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)ในชุมชนที่อยู่ในหรือรอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ให้เป็นเครือข่ายในการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า

            การฝึกอบรมตามโครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) กรมป่าไม้ได้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 1-4 น้อมนำพระราชดำริของพระองค์ท่านมาขยายผลการดำเนินงานโดยมีความเป็นมา ดังนี้ 

           เดือนมกราคม กองพลทหารราบที่ 6 (พล ร.6) โดย ฉก.ร.6 รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง 8 จังหวัด ขอรับงบประมาณจากกรมป่าไม้จัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเงิน 912,000 บาท อบรม 7 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ 80 หมู่บ้าน มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 7,606 คน เทคนิคและวิธีการฝึกอบรมเป็นแบบฝึกลูกเสือชาวบ้านผสมกับการฝึก ทสปช. (ไทยอาสาป้องกันชาติ) ใช้เวลาต่อรุ่น 3 วัน 2 คืน อยู่ร่วมกันแบบเข้าค่าย ใช้การสร้างความสัมพันธ์แบบกลุ่ม ปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ หน่วยงานแต่ละหน่วยมาบรรยายเป็นชั่วโมงหรือคาบ การควบคุมกระบวนการทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายทหาร

            เดือนกันยายน กองพลทหารราบที่ 3 (กอ.รมน.ภาค 2 สย. 1) รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานตอนบน 11 จังหวัด ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอบรม “โครงการฝึกอบรมราษฎรเพื่อพิทักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่าและสภาพแวดล้อม” เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างสำนักสงฆ์ภูผาผึ้งกับราษฎรในพื้นที่ กรณีสำนักสงฆ์จะสร้างกำแพงล้อมสำนักสงฆ์เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่มักจะถูกชาวบ้านล่าเป็นประจำ โดยการล่าส่วนใหญ่จะจุดไฟ และไล่ราว   ทำการฝึกอบรมชาวบ้านรอบสำนักสงฆ์ 2 รุ่น ผ่านการฝึกอบรมรวม 187 คน ใช้งบประมาณ 159,520 บาท เทคนิคการฝึกอบรมเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   มาเปิดใจพูดคุยกัน นับแต่ประวัติการตั้งหมู่บ้าน การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ จากอดีตสู่ปัจจุบัน สภาพปัญหาที่เกิด แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีการปลูกฝังเรื่องทางศาสนาเน้นให้ตระหนักถึงชีวิตที่แท้จริงของมนุษย์ การอยู่ร่วมกันในชุมชนจนระดับประเทศ ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์    และความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน อยู่ร่วมกันแบบเข้าค่าย มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นหลักในการควบคุมวิธีการฝึกโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะอยู่ร่วมด้วยกันตลอดการฝึกเพื่อประสานงาน และร่วมแก้ไขปัญหาด้วยกัน

          ในการแปรพระราชฐานทรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ    สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้มีกระแสพระราชดำรัสกับพลโทสุรยุทธ์ จุลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 2 ในขณะนั้นถึงแนวทางการดำเนินการให้ราษฎรในชนบทมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า  เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านตามแนวทาง “คน” อยู่ร่วมกับ “ป่า” อย่างยั่งยืนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมราษฎร จากผู้บุกรุกทำลายให้เป็นผู้ดูแลรักษาป่าเพื่อประโยชน์ของชุมชน

            วันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชทานธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” แก่ชุมชนที่รวมตัวกันดูแลรักษาป่าอย่างเป็นรูปธรรม ณ ป่าดงใหญ่ บ้านสร้างถ่อนอก ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ อันเป็นที่มาของโครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ที่มีคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีผลงานการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่นประจำปีเพื่อรับพระราชทานธงติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

           กองทัพบกทำเรื่องถึงกรมป่าไม้ให้นำเรื่องเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (โดยรัฐมนตรีว่าการในขณะนั้นคือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เห็นชอบให้กรมป่าไม้ปรับการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันรักษาป่า (อส.ป.)  เป็นการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) และขยายผลออกไปทั่วประเทศ โดยทางฝ่ายทหารขอเป็นผู้ควบคุมกระบวนการฝึกในระหว่างปี 2539-2541 การจัดสรรงบประมาณ กรมป่าไม้จัดสรรให้จังหวัดโดยสำนักงานป่าไม้จังหวัดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ

            ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา การฝึกอบรมเป็นแบบเข้าค่าย ระยะเวลา 4 วัน 3 คืน ภาคอีสานตอนบน (กอ.รมน.ภาค 2 สย. 1) มีชุดครูฝึกและวิทยากรรวมทั้งป่าไม้และทหาร 1 ชุดประมาณ 20 คน ร่วมกันออกปฏิบัติงานต่อเนื่องตลอดทุกจังหวัด พื้นที่ในส่วนของภาคอีสานตอนล่าง (กอ.รมน.ภาค 2 สย. 2) มีครูฝึกฝ่ายทหารเป็นหลักแยกตามพื้นที่ 6 ชุด ควบคุมการฝึกแบบเบ็ดเสร็จตลอดกระบวนการ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เกษตร ตำรวจ สาธารณสุขหรืออื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็นจะได้รับเชิญเพียงเข้าร่วมบรรยายตามหัวข้อเท่านั้น ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้รับผ้าผูกคอ รสทป. และวุฒิบัตรที่มีผู้ลงนาม 3 ท่าน คือ อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ และแม่ทัพภาคในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคเป็นหลักฐาน

           เดือนมกราคม สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ ได้มีคำสั่งที่ 1/2540 ลงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการครบทั้ง 4 ภาค มอบให้แม่ทัพภาคในแต่ละภาคเป็นประธานคณะอนุกรรมการ โดยใช้แนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีผลงานการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางดำเนินงาน

            เดือนมีนาคม 2540 กองทัพภาคที่ 2 จัดสัมมนาเพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงาน ผู้นำสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนกองทัพภาคที่ 1-4 ผู้แทนกรมป่าไม้มีมติให้กรมป่าไม้จัดทำคู่มือการฝึกอบรม รสทป. เพื่อเป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ กรมป่าไม้ (โดยครูฝึก/วิทยากรจากส่วนป้องกันและปราบปรามที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ร่วมกับผู้แทนจากกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (กอ.รมน.ภาค 2 สย. 1) ที่ปฏิบัติหน้าที่ครูฝึก/วิทยากรร่วมกันมาตั้งแต่ต้น ร่วมกันจัดทำคู่มือการฝึกอบรมแจกจ่ายให้หน่วยงานปฏิบัติทั่วประเทศ

            ศูนย์ประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองบัญชาการทหารสูงสุด (ในขณะนั้น) ที่รับผิดชอบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของบประมาณจากกรมป่าไม้จัดฝึกอบรมครูฝึกและวิทยากรรวมทั้งทหารและป่าไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับครูฝึกและวิทยากรที่จะออกปฏิบัติงานฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) โดยจัดฝึกอบรมทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศแต่ปรากฏว่าการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าวไม่ได้ยึดเอาแนวทางตามคู่มือที่ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น กลับไปยึดแนวทางเหมือนที่เคยปฏิบัติมาในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างเป็นหลัก คือการสร้างความสัมพันธ์กลุ่มผสมอุดมการณ์ชาติ เน้นการละลายพฤติกรรมจากความสนุกสนาน  ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานเกี่ยวข้องมาร่วมบรรยายตามหัวข้อหรือชั่วโมง ที่กำหนด เหมือนแนวทางที่ใช้สำหรับการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านและหมู่บ้าน ทสปช.(ไทยอาสาป้องกันชาติ) ทำให้การฝึกอบรมในแต่ละพื้นที่ไม่เป็นไปในทิศทางเหมือนกันอย่างที่ควรจะเป็น

            ในปีเดียวกันนี้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นและบริษัทเอกชนบางแห่ง อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เริ่มให้ความสำคัญและจัดงบประมาณสนับสนุนการฝึกอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนงบประมาณฝึกอบรม รสทป. ทั่วประเทศเน้นพื้นที่แปลงปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ติดต่อกันมาจนปัจจุบัน โดยผู้จัดการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ลงนามในวุฒิบัตรด้วย

           การพิจารณาผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่นตามโครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ได้มีการพิจารณาประเภทบุคคลเพิ่มเติม โดยผู้ผ่านการพิจารณาจะได้รับพระราชทานเข็ม “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ในพิธีพระราชทานธงประจำปี

           กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (โดยผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไป) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “สก.” ประดับบนผ้าผูกคอพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต และสำนักราชเลขาธิการ โดยราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีหนังสือที่ รล 0011/476 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2542 แจ้งพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “สก.” ประดับบนผ้าผูกคอ “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ที่จะมอบให้ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ภายหลังการฝึกอย่างเป็นทางการ

           ราษฎรในหมู่บ้านรอบวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม (วัดผาน้ำย้อย) อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด คัดค้านการสร้างกำแพงรอบพื้นที่วัดที่กำลังก่อสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ซึ่งพื้นที่นี้มีเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์และสวนรวมพรรณไม้ป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งอยู่ด้วย ประกอบกับพื้นที่ในเขตนี้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์และไฟป่าเกิดขึ้นเสมอ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเป็นห่วงปัญหาดังกล่าวนี้ แม่ทัพภาคที่ 2 กราบทูลว่า หนทางแก้ไขปัญหาต้องมีการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ทุกหมู่บ้านรอบพื้นที่ สำนักงาน กปร. จึงได้จัดสรรงบประมาณทำการฝึก รสทป. 40 หมู่บ้าน อยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด (รับผิดชอบโดย กอ.รมน.ภาค 2 สย. 2) 25 หมู่บ้านอยู่ในเขตจังหวัดมุกดาหารและกาฬสินธุ์ (รับผิดชอบโดย กอ.รมน.ภาค 2 สย. 1) 15 หมู่บ้าน โดยมีการเตรียมความพร้อมชุดครูฝึกและวิทยากร หลักสูตรมีการเพิ่มแนวทางชุมชนเข้มแข็ง พร้อมกับเสริมปัญหาเรื่องยาเสพติด สามารถสร้างความเข้าใจ และลดปัญหาความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง ข้อน่าสังเกตุคือชุดครูฝึกอีสานตอนบน   3 ชุด ผู้ควบคุมวิถีหรือกระบวนการฝึกเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ แต่ชุดครูฝึกอีสานตอนล่าง 6 ชุดผู้ควบคุมยังเป็นฝ่ายทหารเหมือนเดิม

            เดือนพฤศจิกายน ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีพระราชทานธงและเข็ม “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ที่วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม นับเป็นการจัดพิธีนอกพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์หรือห้องประชุมโครงการชลประทานสกลนคร (ห้วยเดียก) ที่เคยปฏิบัติติดต่อกันมาในปีนี้  คำปฏิญาณตนของ รสทป. มีการเพิ่มคำปฏิญาณตนเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย และในการพิจารณาหมู่บ้าน/ชุมชนมีหลักเกณฑ์สำคัญเพิ่มเติมในปีนี้ว่าจะต้องผ่านการฝึกอบรม รสทป. เสียก่อน ถ้าไม่ผ่านการฝึกจะไม่ได้รับการพิจารณา

           มีพระราชกฤษฎีกาแยกกรมป่าไม้ออกเป็น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานระดับภูมิภาคที่รับผิดชอบในนามผู้ว่าราชการจังหวัดคือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นผลให้ข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่กระจัดกระจายและรวบรวมได้ยาก

            กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการจัดสรรงบประมาณการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ให้กับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ดำเนินการ แต่ในส่วนของกรมป่าไม้ในช่วงเวลานี้ไม่ได้จัดสรรงบประมาณและดำเนินการจัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) แต่อย่างใด

           ได้มีราษฎรในท้องที่ ตำบลหน้าเขา อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ร้องเรียนสำนักพระราชวังว่ามีกลุ่มอิทธิพลบุกรุกพื้นที่เขาพนมเบญจา สำนักจัดการและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้  จึงได้ร่วมกับกลุ่มกิจการและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง ประสานสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 17 (กระบี่) และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ดำเนินการจัดอบรมทบทวน ให้ความรู้ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถในการป้องกันรักษาป่าเพิ่มขึ้น โดยกรมป่าไม้ได้สนับสนุนงบประมาณการจัดฝึกอบรม 1 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 101 คน

           กรมป่าไม้ได้รับรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการลักลอบบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ในท้องที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากชาวบ้านและนายทุนมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าต้นน้ำ กรมป่าไม้จึงได้กำหนดแผนและมอบให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 (กระบี่) ดำเนินการจัดอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ขึ้น จำนวน 1 รุ่น มีผู้รับการฝึกอบรม จำนวน 100 คน และให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) ดำเนินการจัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในท้องที่ อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท อีก 1 รุ่น มีผู้รับการฝึกอบรม จำนวน 100 คน

            ในปีนี้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) โดยหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.3 (ภูเขียว) ได้มีการประสานองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหัน   อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ให้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดฝึกอบรมโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ได้จำนวน 1 รุ่น มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 100 คน

            และในปีนี้กรมป่าไม้ได้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมไทย อันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นเจตนารมณ์หลัก และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พุทธศักราช 2546 ได้ให้ความสำคัญของการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางให้มีการปฏิรูประบบราชการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 2991/2552 ลงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เรื่องให้จัดตั้งส่วนราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) โดยสังกัดสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า

           กรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณ และมอบหมายให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ดำเนินการจัดฝึกอบรมโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 2 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 246 คน ในท้องที่ จังหวัดบุรีรัมย์

           กรมป่าไม้ ไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) มีเพียงสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ได้ประสานองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรมในท้องที่ จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 55 คน

           กรมป่าไม้ไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) มีเพียงสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ได้ประสานองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรมดังกล่าว ได้ 2 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 118 คน

            และในปีนี้ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่ง ที่ 1998/2555 ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555 เรื่องแบ่งหน่วยงานและกำหนดอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักป้องกันรักษาป่า โดยส่วนราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ได้เปลี่ยนเป็นส่วนส่งเสริมและสร้างเครือข่ายการป้องกันรักษาป่า และยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)

            กรมป่าไม้ได้กำหนดกลยุทธ์เสริมสร้างความร่วมมือของประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาติ โดยจัดให้มีการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐ ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันสอดคล้องกับกระแส พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมป่าไม้จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากรและราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ให้เกิดจิตสำนึกในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่า โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างมีความรู้ความเข้าใจและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และเป็นการให้บุคคลากรของกรมป่าไม้ มีความรู้ความเข้าใจในหลักการและแนวทางสำหรับการทำหน้าที่เป็นวิทยากร  ในการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในแต่ละภูมิภาคของ กรมป่าไม้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งในด้านแนวความคิดและวิธีดำเนินการ อันจะทำให้การจัดตั้งองค์กรและเครือข่ายมีความเข้มแข็งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการทำนุบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและเป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีต่อทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

       ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 กรมป่าไม้จึงจัดให้มีการฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ขึ้น 4 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรม ดังนี้

       รุ่นที่ 1 ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 24-27 ธันวาคม 2555  ณ โรงแรมภูเขางาม   รีสอร์ท จังหวัดนครนายก มีผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นวิทยากร จำนวน 76 คน

       รุ่นที่ 2 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 21-24 มกราคม 2556 ณ โรงแรมลาพาโลมา จังหวัดพิษณุโลก มีผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นวิทยากร จำนวน 101 คน

       รุ่นที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 28-31 มกราคม 2556 ณ โรงแรมโกลเด้นแลนด์รีสอร์ท จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นวิทยากร จำนวน 76 คน

        รุ่นที่ 4 ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2556  ณ โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นวิทยากร จำนวน 76 คน

        และได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 จัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) สำนักละ 1 รุ่นๆ ละ 100 คน เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการบริหารจัดการป่าไม้ และในปีนี้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโชคเหนือ จังหวัดสุรินทร์ ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรม จำนวน ๑ รุ่น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน  100 คน และในปีนี้กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 648/2556 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เรื่องกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ได้ปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จากส่วนส่งเสริมและสร้างเครือข่ายการป้องกันรักษาป่า เป็นฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วม ขึ้นกับส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม การฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) และการดำเนินการโครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” จึงอยู่ภายใต้การดูแลของส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม  สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้

       ต่อมากรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 2659/2556 ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2556 ให้จัดตั้งส่วนส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วม สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ขึ้นมาใหม่
มีภาระกิจในการดำเนินการจัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) และการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรในการป้องกันรักษาป่า

          ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้มีการจัดฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 2 รุ่น ดังนี้

                         รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 21 – 24 มกราคม 2557 ณ โรงแรมลาพาโลมา จังหวัดพิษณุโลก มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 100 คน

                         รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ 2557 ณ โรงแรมโกลเด้นแลนด์    รีสอร์ท จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 100 คน

           และได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขา ทุกสาขา ดำเนินการจัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 23 รุ่นๆ ละ 100 คน ในปีนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานทางปกครองได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในการจัดฝึกอบรมอีก 1๓ รุ่นๆ ละ 100 คน  

           ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 กรมป่าไม้ได้กำหนดให้มีการจัดฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 1 รุ่น 100 คน ที่จังหวัดนครราชสีมา และจัดสรรงบประมาณให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขา ทุกสาขา ดำเนินการจัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 23 รุ่นๆ ละ 100 คน มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 2,165 คน

             และได้ดำเนินการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ด้านการป้องกันรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเจ้าหน้าที่และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เข้าร่วม จำนวน 63 คน

             วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๘ กรมป่าไม้นำราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ที่เคยได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานธงและเข็ม “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงร่วมเข้าเฝ้า รับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙” ครั้งที่ ๙ ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

             วันที่ 2 ตุลาคม 2558 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทาน  ธงและเข็ม โครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัด ทส. พร้อมด้วยผู้บริหารกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กองทัพบก กองทัพภาคที่ 1-4 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ฯ ในพิธีพระราชทานธงและเข็ม โครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” โดยมีราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ผู้แทนหมู่บ้าน จำนวน 133 หมู่บ้าน  266 คน และผู้รับพระราชทานเข็ม ฯ จำนวน 40 คน เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานธงและเข็ม ฯ ในการนี้ นายสมชัย มาเสถียร รองอธิบดีกรมป่าไม้ รับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ประจำกรมป่าไม้ และนางเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ทูลเกล้าถวายหนังสือสรุปผลการพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้าน และบุคคลที่มีผลการดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น ประจำปี 2558 เมื่อเวลา 13.38 น. ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

 

           ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 กรมป่าไม้ ได้กำหนดให้มีการจัดฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 1 รุ่น 100 คน ที่จังหวัดนครราชสีมา และจัดสรรงบประมาณให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขา ทุกสาขา ดำเนินการจัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 24 รุ่นๆ ละ 100 คน  มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 2,366 คน และสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ด้านการป้องกันรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วม พื้นที่ภาคเหนือ เป็นรุ่นที่ 2 และ 3 จำนวน 2 รุ่น  มีเจ้าหน้าที่และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)  เข้าร่วม จำนวน 117 คน และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาร่วมกับกรมป่าไม้พิจารณา    คัดเลือกพื้นที่ป่าชุมชน ที่ได้รับรางวัลตามโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เข้ารับ การฝึกอบรมตามโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เพื่อให้ชุมชนเหล่านั้นเกิดจิตสำนึกมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 2 รุ่น โดยได้พิจารณากำหนดให้พื้นที่ป่าชุมชนตำบลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่ป่าชุมชนตำบลแม่แฝก จังหวัดเชียงใหม่

           กรมป่าไม้ได้กำหนดให้มีการจัดฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 1 รุ่น 100 คน ณ โรงแรม ออโรร่า รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี และจัดสรรงบประมาณให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขา ทุกสาขา ดำเนินการจัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 23 รุ่นๆ ละ 100 คน มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 2,320 คน และได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ด้านป้องกันรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วม จำนวน  2 รุ่น ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นเครือข่าย รสทป. จากจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดนครนายก ณ ศูนย์ฝึกอบรมที่ 2 (เขาใหญ่) อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก มีผู้เข้าร่วมสัมมนา เป็นเครือข่าย รสทป. จากจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสระบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด        จังหวัดลพบุรี

           กรมป่าไม้ได้กำหนดให้มีการจัดฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 1 รุ่น 100 คน ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ และจัดสรรงบประมาณให้สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขา ทุกสาขา ดำเนินการจัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 23 รุ่นๆ ละ 100 คน  มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 2,319 คน และได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ด้านป้องกันรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วม จำนวน 1 รุ่น ณ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล มีผู้เข้าร่วมสัมมนา เป็นเครือข่าย รสทป. จากจังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดหนองบัวลำพู จังหวัดหนองคาย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครพนม                จังหวัดยโสธร จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 76 คน

        กรมป่าไม้ได้กำหนดให้มีการจัดฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 1 รุ่น 100 คน ณ โรงแรมหัวหินบลูเวฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันต์ และจัดสรรงบประมาณให้สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขาทุกสาขา ดำเนินการจัดฝึกกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 23 รุ่น ๆ ละ 100 คน มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 2,214 คน และได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยาภาพเจ้าหน้าที่ และราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ด้านการป้องกันรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วม จำนวน 1 รุ่น ณ โรงแรมเรือนแพ รอยัลปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก มีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นเครือข่าย รสทป. จากจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน  จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์จำนวน 50 คน

           กรมป่าไม้กำหนดให้มีการจัดฝึกอบรมวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 1 รุ่น 100 คน ณ โรงแรมภูผางามรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก และได้มอบหมายให้สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสาขาทุกสาขา ดำเนินการฝึกอบรม ณ พื้นที่รับผิดชอบจำนวน 23 รุ่นๆละ 100 คน แต่เนื่องจากภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้กรมป่าไม้จัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ได้เพียง 11 สำนัก 11 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 1,143 คน

           กรมป่าไม้ได้มอบหมายให้สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสาขาทุกสาขา ดำเนินการฝึกอบรม ณ พื้นที่รับผิดชอบจำนวน 23 รุ่นๆละ 100 คน แต่เนื่องจากภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้กรมป่าไม้จัดฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ได้เพียง 2 สำนัก 2 รุ่น และบริษัท ปตท. ได้ร่วมจัด 1 รุ่น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 226 คน

เครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)