นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ครั้งที่ 1/2563 พร้อมทั้ง แถลงผลการปฏิบัติงานในภาพรวมของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าในการดำเนินคดีบุกรุกป่า

                นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และแก้ไขปัญหารุกป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้วางแผนพร้อมทั้งแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) ในการเสนอนโยบายและแผนงาน มาตรการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เสนอนโยบายการยกเลิก แก้ไข เพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกัน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนงาน พร้อมทั้งได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ระดับจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ ขับเคลื่อนงานในการอำนวยการและบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าในระดับจังหวัด และประสาน กำกับดูแล ตรวจสอบ และติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าและบูรณาการร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าระดับจังหวัด (คปป.จังหวัด) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

                รมว.ทส. กล่าวต่อว่า การตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.ฟป.) เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า การเข้ายึดถือบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่า รวมทั้งการส่งเสริมให้หน่วยงานในพื้นที่จัดตั้ง พร้อมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายในระดับภาคประชาชนให้เป็น “เครือข่ายพิทักษ์ป่า” เพื่อช่วยในการติดตาม ตรวจสอบ และปราบปรามการกระทำผิดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ และป่าอื่น ๆ โดยร่วมบูรณาการกับ คปป.จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ สำหรับผลการดำเนินงานของการปฏิบัติงานในภาพรวมของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร ของกรมป่าไม้ ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาเสือ และชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยบินพิทักษ์ป่า Sky Ranger สำนักงานปลัด ทส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐ เรื่องการออกเอกสารสิทธิทับที่ป่าไม้ เรื่องการลักลอบตัดไม้มีค่า โดยสถิติในภาพรวมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วงที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 62 ถึงปัจจุบัน แบ่งเป็นการดำเนินคดีบุกรุกป่ามีจำนวน 2,851 คดี มีผู้ต้องหา 521 ราย คดีไม้มีจำนวน 2,451 คดี  มีผู้ต้องหา 1,255 ราย และในปีงบประมาณ 63 การดำเนินคดีบุกรุกป่ามีจำนวน 2,156 คดี มีผู้ต้องหา 378 ราย และคดีไม้ มีจำนวน 1,058 คดี มีผู้ต้องหา 521 ราย ในส่วนของการปฏิบัติงานการดำเนินคดีของทั้ง 3 หน่วยงาน แยกเป็น

                – กรมป่าไม้ ในปีงบประมาณ 62 พบว่ามีการดำเนินคดีบุกรุกป่าจำนวน 1,690 คดี มีผู้ต้องหา 331 ราย คดีไม้มีจำนวน 1,666 คดี มีผู้ต้องหา 649 ราย และในปีงบประมาณ 63 การดำเนินคดีบุกรุกป่ามีจำนวน 1,432 คดี มีผู้ต้องหา 275 ราย และคดีไม้มีจำนวน 885 คดี ผู้ต้องหา 419 ราย

                – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปีงบประมาณ 62 พบว่าการดำเนินคดีบุกรุกป่ามีจำนวน 987 คดี มีผู้ต้องหา 173 ราย คดีไม้มีจำนวน 781 คดี มีผู้ต้องหา 605 ราย และในปีงบประมาณ 63 การดำเนินคดีบุกรุกป่ามีจำนวน 686 คดี มีผู้ต้องหา 78 ราย และคดีไม้มีจำนวน 170 คดี มีผู้ต้องหา 95 ราย

                – กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปีงบประมาณ 62 พบว่าการดำเนินคดีบุกรุกป่ามีจำนวน 174 คดี ผู้ต้องหา 17 ราย คดีไม้มีจำนวน 4 คดี ผู้ต้องหา 1 ราย และในปีงบประมาณ 63 การดำเนินคดีบุกรุกป่า มีจำนวน 38 คดี ผู้ต้องหา 25 ราย และคดีไม้มีจำนวน 3 คดี ผู้ต้องหา 7 รายซึ่งจากสถิติดังกล่าวทั้งหมด มีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา

                ทั้งนี้ รมว.ทส. ได้กล่าวถึง ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าที่ล่าสุดได้ดำเนินการตรวจยึดจับกุมผู้กระทำผิดในการลักลอบตัดไม้และนำไม้มาอำพรางเป็นสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด จ.ตาก มาดำเนินคดี พร้อมทั้งวางมาตรการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า โดยการตั้งจุดสกัดลาดตระเวนในพื้นที่ล่อแหลมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ที่เกิดไฟป่าและบริเวณที่มีการลักลอบบุกรุกทำลายป่า พร้อมเร่งรัดการดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) และยกระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบการขออนุญาตขนย้ายไม้เรือนเก่า รวมไปถึงการขอความร่วมมือในการตรวจสอบเส้นทางการเงินจาก ปปง. และอีกหนึ่งกรณีที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบุกจับขบวนการลักลอบตัดไม้เทียนทะเล บริเวณเกาะแตน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นไม้ที่หายาก สวยงาม และเติบโตช้าทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  ประกอบกับในปัจจุบันไม้ชนิดนี้เป็นที่ต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า ยังได้ดำเนินการตรวจยึดและจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในอีกหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมโยงกับขบวนการขโมยไม้ของกลางที่เก็บรักษาไว้ที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลจนสามารถจับกุมกลุ่มขบวนการได้จำนวนมาก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งทั้งหมดได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยหน่วยพญาเสือ เมื่อช่วงวันที่ 8-14 มิ.ย. 2563 ได้ผู้ต้องหาจำนวน 8 นาย และผู้เกี่ยวข้องในขบวนการอีก 14 คน (มีอดีตเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ถูกให้ออกจากราชการและเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ร่วมขบวนการ) และขบวนการดังกล่าวเชื่อมโยงกับกรณีการขโมยไม้ของกลางตามหน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้หลายแห่งในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรณีไม้พะยูงของกลางหายที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ยส.2 (โพนงาม-ดงปอ) ท้องที่จังหวัดยโสธร คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมป่าไม้ ได้มีมติให้ออกจากราชการของพนักงานราชการตำแหน่งพิทักษ์ป่าไปแล้วจำนวน 2 นายแล้ว

                สำหรับในเรื่องมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาขบวนการลักลอบตัดไม้มีค่า เพื่อที่จะได้เร่งขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการดังนี้ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

                1. ติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณสถานที่ ที่สำคัญ เพื่อเฝ้าระวังการกระทำความผิด            

                2. พัฒนาด้านเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์ไม้ ประเภทของไม้,ชนิดของไม้,และอายุของไม้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการพิสูจน์             

                3. ประชาสัมพันธ์ช่องทางในการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้มีค่า             

                4. ส่งเสริม สนับสนุน สร้างเครือข่ายประชาชนในการมีส่วนร่วมดูแลไม้มีค่า                        

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน            

                1. ให้เจ้าหน้าที่โดยการอนุญาตจากหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เพื่อเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมการเงินของผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือเจ้าหน้าที่ ที่มีเหตุอันสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้            

                2. ในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ให้ตรวจสอบผู้ที่ถูกกล่าวหารวมไปถึงนอมินีด้วย                         

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น             

                1. จัดทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนท้องถิ่นโดยให้แนวคิดป่าเป็นของทุกคน เช่น โครงการผู้พิทักษ์ไม้มีค่า            

                2. ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับผู้ที่มีพฤติกรรมลักลอบตัดไม้                         

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)             

                1. เมื่อตรวจสอบการลักลอบตัดไม้ ขนไม้ และค้าไม้มีค่า ขอเสนอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาสั่งการ

โดยด่วนว่าจะรับเป็นคดีพิเศษ เมื่อตรวจสอบแล้วไม่เข้าเงื่อนไขคดีพิเศษขอเสนอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วนเพื่อมาตรวจสอบ และหามาตรการป้องกันไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ต่อไป            

                2. ขอความร่วมมือในการจับกุมคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจของมวลชน            

                3. กรณีการลักลอบตัดไม้มีค่า ที่มีลักษณะนักการเมืองเป็นนายทุน ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษทุกกรณี                         

กรมศุลลากร            

                1. การตรวจสอบไม้เพื่อประกอบการออกหนังสือรับรอง ในการส่งออกนอกราชอาณาจักร ให้สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ตรวจสอบโดยละเอียด            

                2. ให้ตรวจสอบตู้คอนเทรนเนอร์ที่มีน้ำหนักมากกว่าเอกสารที่สำแดง เพราะอาจมีการลักลอบส่งไม้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย             

                3. กรณีการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ขอให้ตรวจสอบว่า เฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวมีการประกอบใช้งานอย่างหนาแน่นมิใช่การปะหรือติดไม้ เพื่ออำพรางไปแยกขายในต่างประเทศ                         

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)            

                1. เร่งรัดการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้            

                2. ขอให้ส่งผลการพิจารณาตรวจสอบการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เพื่อที่จะทำเป็นข้อมูลตรวจสอบ

ขยายเครือข่ายขบวนการลักลอบค้าไม้มีค่าต่อไป                         

ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)            

                1. ขอความร่วมมือในการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ ตรวจยึด ไม้มีค่า             

                2. ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่งข่าวกรองให้กับกรมป่าไม้

Leave a Comment

Skip to content