รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการชุดพยัคฆ์ไพร ลงพื้นที่ขยายผลเร่งด่วน กรณี รปภ.โรงโม่หินลักลอบเผาป่าจังหวัดลำปาง พร้อมให้แจ้งข้อหาหนักทั้งแพ่งและอาญา โทษจําคุก 4-20 ปี ปรับ 2 แสน – 2 ล้านบาท และฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท


หลังจากเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ นำโดยนายอิศเรศ จิรารัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมควบคุมไฟป่าภาคกลาง ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดับไฟป่าใกล้กับโรงโม่หินท้องที่ ตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งไฟได้ไหม้เป็นบริเวณกว้างเสียหายกว่า 109 ไร่ เมื่อตรวจสอบโดยรอบพบว่า ที่บริเวณเพิงพักซึ่งห่างจากจุดไฟไหม้เพียง 10 เมตร เจ้าหน้าที่พบชนวนจุดไฟ ซึ่งเป็นวัตถุที่ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นต้นเพลิงแบบถ่วงเวลา โดยใช้ไม้ขีดไฟมัดรวมกับแท่งยากันยุง ซึ่งหวังผลให้ลุกลามถึงหัวไม้ขีดเพื่อเกิดเปลวไฟเผาไหม้เชื้อเพลิงต่อไป พร้อมกล่องไม้ขีดไฟ และอาวุธปืนแก๊ปยาว 1 กระบอก จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นของกลาง พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่ทะมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ ซึ่งทราบเบื้องต้นว่า กระท่อมเพิ่งพักดังกล่าวเป็นของพนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงโม่หินแห่งหนึ่ง ชุดปฏิบัติการจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ติดตามตัวมาทำการสอบสวน และดำเนินคดีลักลอบเผาป่าตามกฎหมาย

ต่อมา 22 กุมภาพันธ์ 2563 พลตำรวจตรีอนุชา อ่วมเจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง พร้อมพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่ทะและ เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป 14 (แม่ทะ) ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวไฟ ได้ติดตามนำผู้ต้องหาในคดีเหตุไฟไหม้ป่าหลังโรงโม่หินในพื้นที่บ้านแม่ทะ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ทราบชื่อคือนายอุดมสินธ์ อายุ 68 ปี เจ้าหน้าที่ได้นำตัวมาชี้ที่เกิดเหตุบริเวณเพิงพักของผู้ต้องหา กรณีพบวัตถุที่ประกอบด้วยแท่งยากันยุงและไม้ขีดไฟมัดรวมกันจำนวน 3 ชิ้น ซึ่งเป็นลักษณะของวัตถุที่จะนำไปใช้ในการวางเพลิงในพื้นที่ป่า เบื้องต้นผู้ต้องหาให้ปากคำว่า วัตถุที่ประกอบขึ้นดังกล่าวเป็นของตนจริง แต่จะนำไปใช้เผาไร่เผานาของตนเองในพื้นที่อำเภอแม่ทะ และปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนจุดไฟเผาป่าในที่เกิดเหตุ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อเนื่องจากให้การมีพิรุธหลายอย่าง เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป. 14 (แม่ทะ) และพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแม่ทะ ได้แจ้งข้อกล่าวหากับนายอุดมสินธิ์ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พระราชบัญญัติสาธารณะสุข พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้กรมป่าไม้ โดยชุดพยัคฆ์ไพร ขยายผลตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ดำเนินการเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการด่วนให้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ นำกำลังชุดพยัคฆ์ไพร เร่งขยายผลตรวจสอบการลักลอบเผาป่าครั้งนี้ให้ถึงที่สุดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งผู้ต้องหารายนี้จะได้รับโทษจําคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 -2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขี้นจากการเผาป่าเฉลี่ยไร่ละ100,000 บาท รวมค่าเสียหายทางแพ่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ล่าสุดวันนี้ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ พร้อมชุดพยัคฆ์ไพร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ขยายผลตรวจสอบจุดที่เกิดเหตุ พบว่าจุดที่เกิดไฟไหม้ป่าเป็นพื้นที่ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ของบริษัท ศิลาสิน จำกัด ขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จางจำนวน 220-2-01 ไร่ ประกอบกิจการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ตรวจสอบพบพื้นที่ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด 109 ไร่ พื้นที่ถูกไฟไหม้อยู่ในเขตขอใช้ประโยชน์ของบริษัท ศิลาสิน 14-1-32 ไร่ และนอกพื้นที่ขอใช้ 94-2-68 ไร่ และเมื่อตรวจสอบเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาต จะต้องไม่สั่งการหรือยินยอมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด กระทำการ หรือละเว้นการกระทำการใดๆ ให้เป็นการเสื่อมเสียสภาพป่าหรือของป่า หากมีการกระทำผิด ผู้รับอนุญาตต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย และต้องคอยสอดส่องตรวจตราระมัดระวัง มิให้มีการบุกรุกในพื้นที่ได้รับการอนุญาต ถ้ามีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ผู้รับอนุญาตต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที หากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า มีการเสียหายเกิดขึ้นโดยที่ผู้รับอนุญาตควรจะทราบ แต่ละเลยมิได้แจ้งให้ทราบ ผู้รับอนุญาตต้องรับผิดชอบด้วย และต้องมีการจ่ายฟื้นฟู ดูแล บำรุงรักษาพื้นที่ให้กลับคืนมาดังเดิมให้มากที่สุด นอกจากนี้ผู้รับอนุญาต ต้องบำรุงดูแลสภาพป่าในบริเวณที่ได้รับอนุญาต และบริเวณติดต่อใกล้เคียงให้มีสภาพป่าคงเดิม

กรณีผู้ได้รับอนุญาตผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จะมีความผิดตามมาตรา 33/2 และ 33/3 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เจ้าหน้าที่ร่วมกันลงความเห็นว่า บริษัทฯมีพฤติกรรมผ่าฝืนหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกตรวจสอบ เพื่อดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ และมอบให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) นำเรื่องราวเสนอให้มีการพักใช้ใบอนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติต่อไป

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเฉพาะในจังหวัดลำปาง มีพื้นที่ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อดำเนินกิจการด้านเหมืองแร่ โรงโม่หินจำนวน 61 โครงการ รวมพื้นที่ประมาณ 48,213 ไร่ และเมื่อขยายผลอ่านแปลภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่พบว่า ที่ผ่านมามีร่องรอยการเกิดไฟไหม้ในเขตพื้นที่ได้รับอนุญาต และพื้นที่ติดต่อใกล้เคียงพื้นที่ใช้ประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดไว้ ถ้าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ความสําคัญต่อปัญหาไฟป่าหมอกควัน น่าจะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้มาก ซึ่งทางชุดพยัคฆ์ไพร จะเข้าตรวจสอบโครงการอื่นๆ ทั้งหมดหากตรวจสอบพบการกระทำผิด ก็จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายให้ถึงที่สุด ตามนโยบายและข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเคร่งครัด

แสดงความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *