“พยัคฆ์ไพร นำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีที่มีหญิงคนหนึ่งร้องเรียนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่า มีกลุ่มอิทธิพลเข้าตัดต้นยางนา และต้นตะเคียนทอง แปรรูปนำออกไปขาย ภายในวัดท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอันมาก เนื่องจากต้นตะเคียนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี ที่หนักไปกว่านั้นชาวบ้านระบุว่า ในวันที่เกิดเหตุ มีการโค่นไม้ในเวลากลางวัน ทั้งที่เด็กยังนอนหลับพักผ่อน โชคดีที่ครูพี่เลี้ยงได้พาอพยพออกมาข้างนอก เกรงว่าจะได้รับอันตราย จากกิ่งไม้ที่ฟาดลงหลังคา”


จากกรณีที่มีหญิงคนหนึ่งร้องเรียนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่า มีกลุ่มอิทธิพลเข้าตัดต้นยางนา และต้นตะเคียนทอง แปรรูปนำออกไปขาย ภายในวัดท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอันมาก เนื่องจากต้นตะเคียนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี ล่าสุดนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งการให้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร นำกำลังเจ้าชุดพยัคฆ์ไพร เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 1 ภาคกลาง เข้าตรวจสอบโดยด่วน

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบ มีการตัดไม้ 2 จุด จุดแรกพบไม้ยางนาจำนวน 3 ต้น อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ต้นตะเคียนทอง 1 ต้น และต้นมะขาม 1 ต้นถูกตัดโค่นลง โดยรอบพบมีการแปรรูปไม้จำนวนมาก ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ติดแม่น้ำนครนายก กำลังมีการก่อสร้างกำแพงกันน้ำริมน้ำวัดท่าทราย โดยบริษัทผู้รับเหมารายหนึ่ง ซึ่งเป็นโครงการของ จังหวัดนครนายก จุดที่ 2 ห่างจากจุดแรกประมาณ 200 เมตร ติดอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริการส่วนตำบลท่าทราย พบไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ถูกตัดโค่นลง 3 ต้นและถูกตัดทอนออกยาวประมาณ2 เมตร โดยไม่พบการแปรรูปไม้ โดยไม้ตะเคียนทองที่ถูกตัดยืนต้นตาย 2 ต้น และอีกต้นยังไม่ตาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่พบใบไม้มีลักษณะใบสดอยู่บนพื้นดิน โดยอายุของไม้ตะเคียนจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน น่าจะไม่ต่ำกว่า200ปี

เจ้าหน้าที่จึงได้เรียกกำนันและผู้นำท้องถิ่นเข้าให้ข้อมูล พบว่าต้นยางนาและต้นตะเคียน ถูกตัดลงโดยกลุ่มคณะกรรมการวัดชุดหนึ่ง โดยจุดต้นยางริมแม่น้ำเป็นต้นยางที่ยืนต้นตาย และตัดออกเพราะการก่อสร้างเขือนกั้นน้ำ แต่สำหรับต้นตะเคียน 3 ต้นกรรมการวัดได้ดำเนินการเอง โดยไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ชาวบ้านทราบ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจอย่างมาก เพราะเป็นต้นไม้ที่มีความผูกพันกับชาวบ้านในพื้นที่ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน และผู้ที่สัญจรผ่านไปมา แต่ที่หนักไปกว่านั้น ต้นตะเคียนทองอยู่ติดกับติดอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในวันที่เกิดเหตุประมาณวันที่ 18 ตุลาคม 2562 มีการโค่นไม้ในเวลากลางวัน ทั้งที่เด็กยังนอนหลับพักผ่อน แต่ครูพี่เลี้ยงได้พาอพยพออกมาข้างนอก เกรงว่าจะได้รับอันตราย จากกิ่งไม้ที่ฟาดลงหลังคา

จากนั้นได้สอบถามเจ้าอาวาสวัดให้การว่า ทางคณะกรรมการวัดได้ไปดำเนินการกันเอง โดยตนไม่ทราบรายละเอียด และจากการสอบสวนคณะกรรมการวัดให้การว่า ไม้ที่ตัดเป็นไม่ที่ยืนต้นตาย และต้องการขายไม้ เพื่อนำเงินมาสร้างศาลาริมน้ำ แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่พอใจ

จากการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดิน พบว่ามีการขอยืนออกโฉนด โดยนำหลักฐานเดิมเป็น สค.1 ไปขอออกโฉนด และได้มีการรังวัดพื้นที่ไปตั้งแต่ปี 2558 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เอกสารโฉนดที่ดิน เจ้าหน้าที่และผู้นำท้องถิ่นจึงรวบรวมข้อมูล ร่วมกันทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินว่าถูกต้อง ครอบคลุมพื้นที่จุดที่ต้นไม้ถูกตัดหรือไม่ หากไม่ถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกรมป่าไม้จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สำหรับการกระทำของกลุ่มบุคคลที่มาตัดไม้และแปรรูปไม้นำออกไป ทางเจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้ ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ไปดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี ข้อหาลักทรัพย์ไว้ในเบื้องต้น สำหรับไม้แปรรูปที่ยังไม่ได้ขนออกไป เจ้าหน้าที่ได้อายัดไว้ทั้งหมด 53 แผ่น/เหลี่ยม เป็นยางไม้ยาง 46 แผ่น/เหลี่ยม ตะเคียนทอง 7 แผ่น/เหลี่ยม ในส่วนของการดำเนินการก่อสร้าง ได้ให้ผู้รับเหมาระมัดระวังต้นไม้ที่เหลืออยู่ ไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือนที่เกิดจากการก่อสร้าง และได้ให้ชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อรักษาไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป

ล่าสุดเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ทำหนังสือถึงสำนักงานพระพุทธสาสนา ให้ช่วยทำความเข้าใจวัดทั่วประเทศ ถึงวัตถุประสงค์ในการอนุญาตทำไม้ออกตามมาตรา 7 ตามความจำเป็นของวัด โดยสำนักงานพระพุทธสาสนา จะทำหนังสือเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมทันที

แสดงความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *