ต้นไม้ทรงปลูก-ประดู่ป่า : เขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี


โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

วันที่ 15 กรกฎาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการศึกษาวิธีฟื้นฟูดินเสื่อม ณ บริเวณโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โอกาสนี้ทรงปลูกต้นประดู่ไว้เป็นที่ระลึกด้วย

ความโตที่ระดับความสูงเพียงอก (DBH) 37 เซนติเมตร สูง 11 เมตร

พิกัด GPS ในระบบ UTM (WGS84) 575915/ 1517085

 

ประดู่

(Pterocarpus macrocarpus Kurz)

วงศ์ FABACEAE

ชื่อสามัญ Burmese rosewood

ชื่ออื่น จิต๊อก, ฉะนอง, ดู่, ดู่ป่า, ตะเลอ, ประดู่เสน

ลักษณะ: ไม้ต้น ผลัดใบ ขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ใบ ประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ใบย่อยเยื้องสลับ 3-13 คู่ เรียงสลับ ใบย่อรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน โคนใบรูปลิ่มถึงกลม ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขนาดประมาณ 2.5 – 5 x 5 – 15 เซนติเมตร ดอก ช่อแบบกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 10 – 20 เซนติเมตร ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงรูประฆังปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปถั่ว เกสรเพศผู้ 10 อันสีเหลือง มีกลิ่นหอม ผล ผลเป็นฝักแบนคล้ายโล่ มีปีก เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 10 เซนติเมตร ขนาดใหญ่กว่าประดู่บ้าน มี 1-2 เมล็ด รูปทรงรี

ออกดอกออกผล ออกดอกในช่วงมีนาคม – พฤษภาคม ฝักแก่ สามเดือนหลังจากออกดอก

การกระจาย/ นิเวศวิทยา พบในประเทศพม่า กัมพูชา ไทย และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 100 – 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงอมเหลือง เนื้อละเอียดปานกลาง มีลวดลายสวยงาม แข็งแรงทนทาน ใช้ในงานก่อสร้าง ทำเสา พื้น ต่อเรือ เครื่องเรือน เครื่องดนตรี เช่น ซอ ลูกและรางระนาด เปียโนแก่นสีแดงคล้ำใช้ย้อมผ้า เปลือกให้น้ำฝาดใช้ฟอกหนัง