เรียนรู้..พรรณไม้มีคุณค่าจากป่าชุมชน..วันละชนิด **คำมอกหลวง** พรรณไม้มีคุณค่าจากป่าชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพา จังหวัดอุดรธานี

พรรณไม้มีคุณค่าจากป่าชุมชนบ้านห้วยไร่บูรพา จังหวัดอุดรธานี

คำมอกหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Gardenia sootepensis Hutch.

ชื่อวงศ์ : RUBIACEAE

ชื่ออื่น : ไข่เน่า (นครพนม) คำมอกช้าง (ภาคเหนือ) ยางมอกใหญ่ (นครราชสีมา) หอมไก๋ (ลำปาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลมแผ่กว้าง ลำต้นบิดงอ เปลือกสีครีมอ่อนหรือเทา ค่อนข้างเรียบหรือหลุดลอกเป็นแผ่นบาง ๆ
  • ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 4 – 15 เซนติเมตร ยาว 9 – 28 เซนติเมตร ปลายแหลม หรือมน โคนใบมนหรือสอบ หูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ลักษณะเป็นปลอกที่บริเวณรอบกิ่ง แผ่นใบเหนียวและสาก
  • ดอกออกใหม่ๆ จะมีสีขาวอมเหลืองอ่อนและค่อยๆเหลืองขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั้งมีสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ กลีบเลี้ยงเป็นหลอด รูปกรวยยาว 1.2 – 2 เซนติเมตร ปลายเป็นพูด้านหนึ่งแยกลึก ด้านนอกมีขนละเอียดเหนียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกหนา ขอบกลีบม้วนและบิด ดอกบานเต็มที่กว้าง 8 –10 เซนติเมตร
  • ผลแห้งไม่แตก รูปทรงรีหรือไข่กว้าง 1.8 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 2 – 2.4 เซนติเมตร มีสันตื้น 5-6 เส้น ผลแก่สีน้ำตาลเข้ม เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง เมล็ดกลมถึงแบน มีจำนวนมาก

นิเวศวิทยา : ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าผสมผลัดใบ และตามป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-400 เมตร

การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ด

การนำไปใช้ประโยชน์  :  ต้นคำมอกหลวง เป็นไม้ทนแล้ง เหมาะที่จะปลูกเพื่อให้ร่มเงา ดอกมีสีสันสวยงาม กลิ่นหอม ออกดอกพร้อมกันทั้งต้น และส่งกลิ่นหอมยาวนาน
2 – 3 วัน สามารถเจริญเติบโตได้ดีเนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ป่าจึงมีความแข็งแรง ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ยางเหนียวจากยอด ขยี้เป็นก้อน ใส่ในร่องระหว่างโคนมีดกับด้าม จะช่วยให้มีดแน่น ติดกับด้ามมีดมากขึ้น เนื้อไม้สามารถนำมาก่อสร้างและงานแกะสลักได้ดี

ด้านยาสมุนไพร ใช้เนื้อไม้เข้ายากับโมกเตี้ย สามฝันเตี้ย ต้มน้ำดื่ม แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด เมล็ดต้มน้ำผสมเป็นยาสระผมฆ่าเหา

เหตุผลในการคัดเลือกเพื่อการเก็บรักษาพันธุกรรมพืช : เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่ชุมชนมีความต้องการอนุรักษ์เพื่อการใช้ประโยชน์

สำรวจข้อมูลโดย ศูนย์ส่งเสริมวนศาสตร์ชุมชนที่ 3 สกลนคร