กรมป่าไม้ยืนยันทวงคืนผืนป่าไม่มี 2 มาตรฐาน

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงกรณีที่นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้โพสต์ภาพถ่ายทางอากาศที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ในเฟสบุ๊ก โดยระบุว่ามีรีสอร์ทตั้งอยู่บนที่ดินที่จัดให้กับราษฎรอาสาทำกินในการทำการเกษตร ซึ่งนายทุนเข้ามาซื้อโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดได้ พร้อมทั้งกล่าวหาว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน โดยเปรียบเทียบกับกรณีของพื้นที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ที่ใช้อำนาจ ม.44 ในการดำเนินการนั้น ทางกรมป่าไม้ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปางก่อ ป่าวังชมภู และป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาโปลกหล่น ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.เขาค้อ ต.สะเดาะพง ต.ริมสีม่วง และ ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งกองทัพภาค 3 ได้ขออนุญาตใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2520 – 2533 จำนวน 5 ครั้ง 8 แปลง เนื้อที่รวม 126,368 ไร่ เพื่อจัดสรรให้ราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) อยู่อาศัยทำกิน ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ต่อมาปี 2555 จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ได้ทำหนังสือถึงกรมป่าไม้เพื่อส่งมอบพื้นที่คืนบางแปลง กรมป่าไม้จึงขอให้จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์จัดส่งรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินที่ได้จัดสรรให้หน่วยงานราชการ และ รอส. ว่ามีแปลงที่ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขและแปลงที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดกี่แปลง พร้อมแผนที่ที่เกี่ยวข้อง อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า ในช่วงตั้งแต่ปี 2554 – 2559 กรมป่าไม้ร่วมกับกองทัพภาค 3 และจังหวัดเพชรบูรณ์ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวพบว่า มีสิ่งก่อสร้างลักษณะรีสอร์ท ประมาณ 400 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว 64 แห่ง ส่วนรีสอร์ทที่ปรากฏตามภาพข่าวนั้น อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก (รอส.) แปลงที่ 2 ซึ่งขณะนี้คณะทำงานสำรวจพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่กองทัพภาค 3 ขอใช้ประโยชน์ท้องที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ กำลังดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงการถือครองที่ดินดังกล่าว นายชลธิศ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงกรณีการใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 35/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ว่า ต้องขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และลักษณะพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน อย่างกรณีพื้นที่ภูทับเบิกเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เมื่อพบการกระทำผิดไม่สามารถรื้อถอนได้ ต้องนำเรื่องสู่กระบวนการฟ้องทางแพ่งเพื่อขับไล่ ประกอบกับผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และความเป็นอยู่ของราษฎรทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการระงับ ปราบปราม และป้องกันการกระทำดังกล่าว ในขณะที่พื้นที่เขาค้อ ซึ่งกองทัพภาค 3 ขอใช้ประโยชน์อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อพบการกระทำผิดเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจดำเนินคดีและรื้อถอนภายใต้กรอบของกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดังนั้น การป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายป่าไม้จะดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ จึงมิใช่การปฏิบัติสองมาตรฐานแต่อย่างใด “ปัจจุบันกรมป่าไม้ กองทัพภาค 3 และจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบการครอบครองที่ดินพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ทั้งหมด หากพบว่ามีรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของกองทัพภาค 3 จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปอย่างจริงจังและเด็ดขาด” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

Leave a Comment

Skip to content